สหการประมูลรุกเต็มสูบ ชี้รถมือสองคึกคัก-เป้าสิ้นปีโกยแชร์กว่า 60%

24 ก.ย. 2559 | 12:00 น.
“สหการประมูล” เผยไฟแนนซ์ทยอยส่งรถยึดเข้าสู่ธุรกิจประมูล คาดครึ่งปีหลังตลาดรถมือสองคึกคัก เล็งกางแผนรองรับทั้งขยายช่องทาง พัฒนาระบบไอที ชูราคาต่ำกว่าเต้นท์รถ 15 – 35 % หวังเพิ่มลูกค้าเอนด์-ยูสเซอร์ มั่นใจสิ้นปีกอดมาร์เก็ตแชร์ 60% ขึ้นแท่นเบอร์ 1 พร้อมจับมือพันธมิตรใหม่เป็นตัวกลางซื้อ-ขาย ประมูลรถครบวงจร

[caption id="attachment_100156" align="aligncenter" width="335"] สุวิทย์ ยอดจรัส  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) สุวิทย์ ยอดจรัส
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสุวิทย์ ยอดจรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์รถมือสองช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเข้าสู่ธุรกิจประมูลเริ่มมีมากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยหลักคือรถยึดจากสถาบันการเงิน ปัจจัยต่อมาคือ รถคันแรกที่ครบเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้จำนวนรถที่เข้ามาในบริษัทฯจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิม 3,000 – 4,000 คัน ก็จะเพิ่มเป็น 4,000-5,000 คัน ปัจจุบันสัดส่วนรถที่ประมูลแบ่งออกเป็นรถยนต์ 90 % และจักรยานยนต์ 10%

“สหการประมูลรับรถจากทุกไฟแนนซ์ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาคธุรกิจทำให้เราสามารถที่จะประเมินหรือรับรู้ก่อน ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ก็เริ่มจะมีรถจากโครงการรถคันแรกไหลเข้าสู่ตลาด โดยไฟแนนซ์ได้ทยอยส่งรถเข้ามามากขึ้น และจะส่งผลทำให้ราคารถมือสองเริ่มตกลงมา ”

ที่ผ่านมาในอดีตจำนวนรถเข้ามาอยู่ในพอร์ตของสหการประมูลประมาณ 7 – 8 หมื่นคันต่อปี แต่ในปี 2558 จำนวนรถเข้ามาลดลงเหลือประมาณ 6 หมื่นคันต่อปี ขณะที่ปี 2559 แนวโน้มเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้บริษัทฯมีการวางกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเข้มข้น ทั้งในส่วนของสหการประมูล และการจับมือกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งล่าสุดจับมือกับ บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) TSF เพื่อเปิด บริษัท แอคชั่น แอนด์ ออคชั่น จำกัด

สำหรับการจับมือกันครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินรถยนต์ให้มีมูลค่า โดยจะทำหน้าที่ให้ลูกค้าที่มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้พบปะกันและตัดสินใจซื้อขายผ่านการประมูล ซึ่งสหการประมูลจะใช้จุดแข็งของตัวเองคือความเชี่ยวชาญในธุรกิจประมูลรถมือสอง ส่วน TSF เป็นผู้นำสื่อโฆษณานอกบ้านและได้สิทธิในการโฆษณาด้านหน้าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น โดยบริษัทฯมีการประเมินว่าจะมีการนำรถเข้ามาประมูลขายผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 8 หมื่นคัน หรือมีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี

“แต่ละปีตลาดรถมือสองมีรถอยู่จำนวนมาก เราเห็นความสำคัญจึงมีการจับมือกับพันธมิตรและมีแคมเปญนำเสนอที่เรียกว่า “เพื่อนประมูล” ซึ่งจะเป็นรูปแบบการให้บริการที่เป็นแบบ “วัน สต๊อป เซอร์วิส” โดยจะทำหน้าที่เบ็ดเสร็จตั้งแต่รับรถถึงบ้าน มีการรับประกัน ประเมินสภาพรถให้ และลูกค้าที่จะมาซื้อรถก็จะตัดสินใจได้ง่าย ซึ่งโปรเจ็กต์นี้เพิ่งจะเริ่มทำในเดือนกันยายน ส่วนการประชาสัมพันธ์ต่างๆก็จะสื่อสารผ่านสื่อโฆษณาของ TSF เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเจ้าของรถยนต์ทั่วประเทศ เพิ่มทางเลือกในการซื้อ-ขาย”

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ด้านช่องทางเดิมของสหการประมูล ที่มีการประมูลผ่านสาขาที่มีกว่า 32 แห่งทั่วประเทศ และมีการจัดประมูล 365 วัน หรือเฉลี่ยรถที่ประมูลอยู่ที่วันละ 300 คัน ในส่วนนี้จะมีการพัฒนาระบบไอทีมารองรับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประมูลให้กับลูกค้า มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่รองรับทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส เพื่อขยายไปสู่ลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นเอนด์ ยูสเซอร์ ที่เข้ามาประมูลรถโดยตรง ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้มีประมาณ 10% และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อีก 90 % ลูกค้าที่มาประมูลจะเป็นกลุ่มเต็นท์รถทั่วไป ซึ่งบริษัทฯจะมีการสื่อสารให้เห็นถึงข้อดีของการประมูลด้วยตนเอง อาทิ ราคาต่ำกว่าเต็นท์รถ และตามเว็บไซต์ขายรถมือสองต่างๆโดยเฉลี่ยราคาจะห่างกัน15- 35 %

นอกจากนั้นแล้วแผนงานในอนาคตจะเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า มีการเปิดประมูลตามห้าง อาจจะเช่าพื้นที่ลานจอดรถเพื่อจัดเป็นสถานที่ในการประมูล มีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลความรู้ และอำนวยความสะดวกในการประมูล ส่วนแผนงานด้านอื่นๆจะมีการจัดทำกรีนบุ๊ค ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเรดบุ๊ก หรือ บลูบุ๊ก โดยจะบอกราคากลางของรถมือสอง ซึ่งบริษัทฯมีการเก็บดาต้าเบส เพื่อเป็นข้อมูลให้กับสถาบันการเงินและผู้ใช้รถโดยตรงหรือเอนด์ยูสเซอร์

“เราอยากเป็นบริษัทฯที่มีอินโนเวชันในตลาดประมูล ดังนั้นจึงมีการเตรียมตัวมานาน มีการวางแผนจัดการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราใช้เวลากว่า 3ปีในการวางระบบ และมีการนำระบบไอทีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การสื่อสารกับกลุ่มลูกค้ามีการใช้โซเชียลต่างๆและยังมีการพัฒนาโปรแกรมในการประมูลออนไลน์ ซึ่งเรามีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเบ็ดเสร็จใช้เม็ดเงินพัฒนาไปเพียง 5 ล้านบาท”

ด้านผลประกอบการที่เป็นรายได้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ทำได้ 293 ล้านบาท มีกำไร 56 ล้านบาท ส่วนรายได้ปี 2558 ทำได้ 724 ล้านบาท กำไร 188 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2559 รายได้จะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีกว่า 60% และในปี 2560 ตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตเป็น 2 เท่า

“25 ปีของการดำเนินงานไม่มีภาวะขาดทุนเลย จะมีก็แต่กำไรมากกำไรน้อย และเราไม่หยุดที่จะเดินหน้าดังจะเห็นจากการหาช่องทางต่างๆ มีการทำตลาดและก้าวไปสู่มาร์เก็ตเพลส มีจำนวนรถให้ดูมากกว่า 5 หมื่นคัน ถือเป็นจุดแข็งของเราที่มีจำนวนรถอยู่เป็นจำนวนมาก” นายสุวิทย์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559