Golfdigg เพื่อนักกอล์ฟ อยากตีเมื่อไหร่จองได้ทันที

24 กันยายน 2559
2 หนุ่มวิศวกรเพื่อนร่วมหมู่บ้าน ผู้ผสานทักษะคอมพิวเตอร์ มาช่วยแก้ปัญหางานอดิเรกจนก่อรูปเป็นตัวแบบธุรกิจใหม่บนโลกออนไลน์

[caption id="attachment_100137" align="aligncenter" width="500"] ภูริชช์ อักษรทับ (ซ้าย) ภูริชช์ อักษรทับ (ซ้าย) , ธีระ ศิริเจริญ (ขวา)[/caption]

"ภูริชช์ อักษรทับ" เป็นนักกอล์ฟผู้หลงใหลชีวิตบนกรีน ว่างเมื่อไหร่ต้องแบกถุงกอล์ฟเข้าสนาม มีประสบการณ์ในวงการกอล์ฟโชกโชนจนเห็นโอกาส

มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างโทร.ไปจองสนาม เจ้าหน้าที่ว่า "พี่ มาตีพรุ่งนี้เลยไหม พอดีตารางว่างอยู่ ผมให้ราคาพิเศษเลย" จนมาคิดต่อว่า สนามกอล์ฟมีปัญหาในการจัดการกับสล็อตเวลาการตีที่ว่างอยู่ เมื่อไม่มีลูกค้าก็เสียโอกาสการทำรายได้ส่วนนี้ไป

ประจวบเหมาะ"ธีระ ศิริเจริญ"เพื่อนรุ่นน้องในหมู่บ้าน ขลุกอยู่กับเรื่องคอมพิวเตอร์ ทำงานแผนกพัฒนาโปรแกรมให้ค่ายมือถือใหญ่ และต่อมารวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ออกมาตั้งบริษัทรับจ้างพัฒนาแอพให้กิจการต่าง ๆ

โคจรมาเจอกันว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท กอล์ฟดิกก์ฯ เพื่อให้บริการ"รับจองสนามกอล์ฟ"ภายใต้แนวคิด "Last Minute Deal" หรือจองด่วนเย็นนี้เข้าสนามกอล์ฟพรุ่งนี้

ภูริชช์ขยายความคิด ปกติสนามกอล์ฟมีค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งค่าบำรุงรักษาสนาม ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ไม่มีนักกอล์ฟเข้ามาตีก็ต้องจ่าย ขณะที่การขายเวลาเข้าตีที่ทำกันอยู่เป็นแบบตั้งรับ คือรอนักกอล์ฟโทร.มาจองเวลา เจ้าหน้าที่สนามมีอยู่รับจองตามเวลางาน อย่างมากที่สุด 17.00 น.ก็เลิก จองแล้วสนามยังต้องลุ้น ถึงเวลานักกอล์ฟที่จองไว้อาจไม่มาตามนัด ก็ต้องสูญรายได้ส่วนนี้อีก

ถ้าไปติดต่อสนามกอล์ฟ เอาสล็อตเวลาที่ว่างของสนามมาขายทำรายได้ เป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากที่ต้องสูญอยู่แล้วแน่ ๆ

ขณะเดียวกันในฝั่งนักกอล์ฟ หากมีสนามให้ตีในราคาที่ถูกลง สามารถจองได้สะดวกรวดเร็ว สามารถเลือกสนามได้ตามที่ต้องการ จากเดิมที่มักเลือกไปตีสนามเดิม ๆ เพราะมีความคุ้นเคยเป็นหลัก เป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ

แอพกอล์ฟดิกก์ ตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝั่งนี้ได้อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการพัฒนาแอพพลิเคชันนี้ก็มีเรื่องราว "ธีระ ศิริเจริญ" เล่าว่า เส้นทางธุรกิจเริ่มจากทั้งเงินทุนส่วนตัวที่ก็มีจำกัด บวกกับทุนที่สะสมจากการเปิดบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชัน จนมาได้โจทย์"จองสนามกอล์ฟ"ดังกล่าว ก็ค่อยทำโดยแบ่ง 20% ของเวลางานประจำ มาพัฒนาแอพนี้

จากไอเดียบนกระดาษเมื่อกลางปี เริ่มต้นพัฒนาแอพในอีก 3 เดือนถัดมา และกว่าเวอร์ชันแรกจะเสร็จก็เข้าต้นปีใหม่ ภายใต้หลักคิดที่ชัดเจนว่า "จองนาทีสุดท้าย" คือ เสนอขายตารางเวลาสนามกอล์ฟ ที่เหลือจากที่มีคนจองแล้ว มาให้นักกอล์ฟเลือกในเวลากระชั้น คือจองเย็นนี้ตีพรุ่งนี้

ซึ่งไม่มีอะไรตอบโจทย์ได้เท่าแอพพลิเคชัน คือ เปิดหน้าจอดูเลย จองเลย จ่ายเงินเลย ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทันทีที่จองระบบก็จะไปล็อคเวลาที่สนามได้ทันที โดย 2 ผู้บริหารกอล์ฟดิกก์มั่นใจ "ของเราน่าจะเป็นลาสต์มินิทดีลเจ้าของของวงการกอล์ฟ"

เพราะตอนเปิดตัวนั้น ในเมืองไทยมีผู้ให้บริการรับจองสนามกอล์ฟเช่นกัน โดยเป็นบริการที่ต่อยอดจากสื่อเกี่ยวกับวงการกอล์ฟ แต่ก็เป็นบริการแบบ"บุ๊กกิ้ง" คือ ลูกค้าแจ้งความจำนงมา ก็ติดต่อหาสนามกอล์ฟในเครือข่าย ว่ามีตารางเวลาเหลือในนักกอล์ฟตีตามที่ต้องการหรือไม่ เมื่อได้สนามแล้วติดต่อกลับหานักกอล์ฟอีกครั้ง ซึ่งอาจได้สนามที่ไม่ถูกใจ เป็นการติดต่อกลับไปกลับมา "ไม่ใช่เรียลไทม์" ส่วนในสหรัฐอเมริกา ก็มีเว็บไซต์ที่ให้บริการรับจองสนาม แต่ก็เป็นลักษณะเป็นคนกลางช่วย"บุ๊กกิ้ง"เช่นกัน

มีที่เป็น"ลาสต์มินิตดีล" แต่เป็นของวงการโรงแรม "เราจึงเอามาผสมกัน" จนเป็นตัวแบบธุรกิจดังกล่าว คือเอาเวลาว่างของสนามมาขายในเงื่อนไขที่ดีขึ้นแก่นักกอล์ฟ

แม้แอพจะเสร็จแท้ที่จริงธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น เพราะเมื่อเปิดตัวแล้วมีปัญหาที่ต้องตามแก้ไขกันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อหาสนามกอล์ฟที่ต้องการทดลองกับวิธีขายสล็อตเวลาแบบใหม่ เที่ยวคุยให้เข้าใจและยอมรับ เนื่องจากเป็นของใหม่ไม่เคยมีมาก่อน สนามก็รีรอ จนได้"วินเทจ"เป็นเจ้าแรก

เมื่อมีจุดเริ่มก็เดินหน้าต่อได้ เปิดให้บริการมากว่า 2 ปี จนปัจจุบันมีสนามให้บริการบนแอพกอล์ฟดิกก์กว่า 40 แห่งจาก 2 49 สนามทั่วประเทศไทย พร้อมกับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจนแตะ 3 หมื่นราย นอกจากนี้แล้วจากจองข้ามคืน สนามกอล์ฟเอาสล็อตเวลามาให้"กอล์ฟดิกก์"ขายยาวขึ้นเป็น 7 วันแล้ว

"ภูริชช์"ขยายความอีกว่า กอล์ฟดิกก์มีส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมนักกอล์ฟ จากการติดตามผลพบว่า กลุ่มที่ซื้อผ่านแอพส่วนใหญ่เป็นลูกค้าใหม่ ช่วยเพิ่มรายได้ให้สนาม เป็นตัวชี้ว่ากอล์ฟดิกก์ไม่ได้มากินตลาดของสมาชิกเดิมของสนามกอล์ฟ และยังทำให้นักกอล์ฟกล้าไปทดลองตีสนามใหม่ ๆ มากขึ้น

พร้อมกับการเติบโต "ธีระ"ย้ำว่า ระบบการให้บริการก็พัฒนาต่อเนื่อง "หยุดเมื่อไหร่ก็ถอยหลัง" โดยในช่วงแรก ๆ มีการอัพเดตเวอร์ชันใหม่ ๆ ตลอดเวลาเป็นรายเดือน จนถึงปัจจุบันก็ยังมีเวอร์ชันใหม่ออกเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการรองรับความต้องการใหม่ ๆ เพิ่มทางเลือกที่มากขึ้น ให้ลูกค้าใช้บริการได้ดีขึ้น เช่น เพิ่มเพื่อนที่จะร่วมก๊วน ก็สามารถทำได้แล้ว เป็นต้น

ทำให้ถึงวันนี้กอล์ฟดิกก์มีฐานลูกค้าแล้วกว่า 3 หมื่นราย เกือบ 90 % เป็นนักกอล์ฟไทย อีก 10 % เป็นคนต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่พักอาศัยหรือทำงานในเมืองไทย แต่ก็เริ่มมีนักกอล์ฟที่เดินทางจากต่างประเทศ เข้ามาใช้แอพและเดินทางมาตีบ้างแล้ว "เราเริ่มทำการตลาดเจาะกลุ่มหลังนี้เพิ่มขึ้น เช่น การไปติดประกาศและสร้างความรับรู้ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ย่านธนิยะแหล่งรวมชาวญี่ปุ่น เพื่อให้รู้จักเว็บและแอพเรามากขึ้น"

โมเดล"Last Minute Deal"การจองสนามกอล์ฟทางแอพของกอล์ฟดิกก์ดังกล่าวนี้ จุดประกายแรงบันดาลใจให้หลายคนติดต่อถึงการรับจองสนามแบดมินตัน สนามฟุตบอล

ธีระเผย มีน้องหลายคนเข้ามาคุยด้วย ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดได้ แต่เราขอโฟกัสที่วงการกอล์ฟก่อน เพราะยังต้องทำอะไรต่ออีกมาก เฉพาะตลาดสนามกอล์ฟเมืองไทยกว่า 400 สนามนี้ รับรู้กันว่าเป็นจุดหมายของนักกอล์ฟทั่วโลกอยู่แล้ว

"เราต้องการอะโกดาสำหรับวงการนักกอล์ฟ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559