ธุรกิจ‘โดรน’เทรนด์ใหม่โตต่อเนื่อง สทป.แนะตั้งหน่วยงานรับผิดชอบตรง

24 กันยายน 2559
ที่ผ่านมา "โดรน" (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ มักใช้ในการทหารด้านความมั่นคง หากแต่วันนี้ได้ขยายวงรุกคืบเข้าสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ภาคพลเรือนมากยิ่งขึ้น อาทิ การถ่ายทำภาพยนตร์ และทำการเกษตร จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี ล่าสุด สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)หรือ สทป. กระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนโรดแมปเชิงบูรณาการเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อจะนำไปสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

[caption id="attachment_100072" align="aligncenter" width="335"] พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล  ผู้อำนวยการ สทป. พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล
ผู้อำนวยการ สทป.[/caption]

โดย พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวถึงแนวโน้มการนำระบบอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในปัจจุบันว่า มีความสำคัญในการใช้งานทั้งทางทหาร และภาคสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับจึงขยายตัวสูงทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งโดยประชาชนที่สนใจ ทำให้มีการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับออกมาใช้งานกันมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ผู้ที่จะนำระบบอากาศยานไร้คนขับไปใช้งานปฏิบัติให้ถูกต้องและปลอดภัย

สอดรับกับ พล.อ.ชนินทร์ จันทรโชติ ที่ปรึกษา สทป. ที่ระบุว่า วันนี้ยูเอวี (UAV) เป็นเทคโนโลยีที่เข้าสู่ภาคพลเรือน รวมถึงงานภาคความมั่นคงที่ผ่องถ่ายมาสู่ภาคพลเรือน ดังเช่น เดิมที่ระบบอินเตอร์เน็ตมักจะใช้ภาคความมั่นคงแต่ปัจจุบันภาคพลเรือนใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งใน และต่างประเทศแล้ว สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ TCDC ให้ความสำคัญ ยกให้ "อากาศยานไร้คนขับ" เป็นเทคโนโลยีแห่งปีที่สร้างมูลค่าภาคการขนส่ง และภาคการบริการให้กับประเทศมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ดังเช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่นำมาใช้ในเชิงธุรกิจการเกษตร และสร้างมูลค่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ในออสเตรเลียที่ใช้ในธุรกิจถ่ายภาพทางสูง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้ในลักษณะนี้มากนัก ขณะที่ในประเทศไทยเริ่มเห็นแนวโน้มการนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารชุดบ้างแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถหาซื้อโดรนได้ง่าย ทั้งยังสามารถศึกษาด้วยตนเองได้จึงเชื่อว่าในอนาคตจะได้รับความสนใจจากภาคพลเรือนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อหันมามองเรื่องกฎหมาย ในต่างประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการเติบโตของเทคโนโลยีนี้ มีกฎหมายรองรับชัดเจน โดยแบ่งผู้ใช้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ด้านความมั่นคง อาทิ ทหาร และตำรวจ 2.กลุ่มพลเรือน อาทิ สถาบันการศึกษา และบุคคลธรรมดา

ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันมีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 นั้น เห็นว่า เนื้อหาสาระเป็นเรื่องของความมั่นคง ยังไม่ครอบคลุมการใช้ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งจากประสบการณ์ตนเองได้รับการร้องเรียนเรื่องการใช้โดรนที่ไม่เหมาะสม อาทิ กรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำโดรนบินถ่ายบริเวณวัดพระแก้ว เป็นต้น

[caption id="attachment_100071" align="aligncenter" width="500"] อากาศยานไร้คนขับ อากาศยานไร้คนขับ[/caption]

"จากการวิเคราะห์เนื้อหาของกฎระเบียบ ยังไม่รองรับต่อการเติบโตอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการจัดจำหน่าย UAV ที่มีการครอบครองอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะในภาคพลเรือน ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังไม่สนับสนุนให้เกิดการช่วงชิงเชิงพาณิชย์ที่ในหลายประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก หากประเทศไทยไม่มีมาตรการรองรับในเรื่องเหล่านี้ย่อมเกิดผลกระทบตามมาได้" พล.อ.ชนินทร์ ที่ปรึกษา สทป. กล่าว

ทั้งยังมีช่องโหว่เรื่องของกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่กำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงเทคโนโลยี และไม่มีกฎหมายควบคุมนักสมัครเล่นทั้งหลาย ที่อาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ยังไม่ครอบคลุม เพราะไม่มีหน่วยงานใดควบคุมที่ชัดเจน

"กฎหมายที่ออกมาเน้นเรื่องความมั่นคงในภาครัฐ แต่ตัวบุคคลยังไม่มี รวมถึงการทำผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คอมพิวเตอร์ยังไม่มีต้องเพิ่มเติมส่วนนี้ ตลอดจนให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ใช้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี เนื่องจากขั้นตอน หรือ กระบวนการของรัฐมีความล่าช้า ไม่อำนวยความสะดวก หรือเอื้อกับภาคประชาชน จึงทำให้ผู้ใช้ไม่รอขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ มองเป็นปัญหาไป ทั้งนี้ เสนอแนะให้ควรมีโครงสร้างใหม่ หรือ ให้มีศูนย์กลางรับผิดชอบดูแลการใช้งานโดยตรง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โดรนโดยเฉพาะเกิดขึ้น"

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ควรศึกษากรณีศึกษาจากต่างประเทศที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ด้านความมั่นคง และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน ตลอดจนต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิ และปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน และเยาวชนร่วมด้วย สุดท้าย คือ การออกใบอนุญาตให้กับผู้ใช้ เห็นว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ควรสร้างโรงเรียนการบินขึ้นมาเฉพาะเพื่อให้ได้มาตรฐาน มีใบขับขี่รับรอง มีหลักสูตรที่มีมาตรฐานสากลรองรับ

"ถึงเวลาที่เราจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้โดรน เพื่อให้เกิดมาตรฐาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่จะเดินไปพร้อมกับความมั่นคง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยทุกหน่วยงานมาร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป"

หลักเกณฑ์การใช้ 'โดรน'

ในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 ซึ่งมีด้วยกัน 18 ข้อนั้น ได้ระบุไว้ในข้อ 4 ว่า อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกตามประกาศนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา โดยแบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือ ก.ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ข.ที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม

2.ประเภททีใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นอื่นนอกจาก (1) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังต่อไปนี้

ก.เพื่อการรายงานเหตุการณ์หรือรายงานการจราจร (สื่อมวลชน) ข.เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ ค.เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน ง.เพื่อการอื่นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559