ดอกบัวคู่-ล็อกซเล่ย์-บีเจซี เทงบสร้างแบรนด์บุกอาเซียน

23 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
จับตาแบรนด์ไทยพาเหรดทุ่มงบตลาดหวังสร้างแบรนด์แข็งแกร่งสู้ศึกอาเซียน "ดอกบัวคู่" ซุ่มเทเงิน 20 ล้าน ทำบีโลว์เดอะไลน์ ก่อนเพิ่มอีก 50% ในปีหน้า ขณะที่ "ล็อกซเล่ย์-บีเจซี" ดิสตริบิวเตอร์รายใหญ่ เผยแบรนด์ไทยแห่ปูพรมเพิ่มพื้นที่ขาย พร้อมเสริมมาร์เก็ตติ้งปลุกตลาดคึกคัก ด้าน "ไทยเบฟ" แนะต้องเลือกใช้เงินให้เหมาะสม หลังกระจายสินค้าครอบคลุม ควรเลือกสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและมียอดขายที่คุ้มกับการตั้งโรงงาน

นายบัณฑิต ลีเลิศพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค แบรนด์ดอกบัวคู่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปีนี้บริษัทใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทในการทำตลาดต่างประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาทในปีหน้า เพื่อรุกทำตลาดและสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง จากปัจจุบันที่บริษัทส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทน ทำให้ยอดขายยังไม่ได้เติบโตมากนัก โดยแผนการรุกตลาดจะมีขึ้นโดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ด้วยการเข้าไปทำกิจกรรมการตลาด การแจกสินค้าตัวอย่าง ล่าสุดยังได้บริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจเวียดนามและมาเลเซีย มาช่วยกระจายสินค้าให้ด้วย

"ในต่างประเทศบริษัทส่งสินค้าไปขายนานแล้ว อาทิ ยาสีฟัน ปีนี้ได้เพิ่มไลน์สินค้ากลุ่มสกินแคร์ จึงวางแผนทำตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง ที่ผ่านมายอดขายสินค้าดอกบัวคู่มีพอประมาณ ไม่ได้หวือหวามากนักปีนี้พยายามทำตลาดให้มากขึ้น ซึ่งรูปแบบการตลาดจะเหมือนในประเทศไทย เน้นการทำบีโลว์เดอะไลน์หรือกิจกรรมการตลาดทั้ง การแจกสินค้าตัวอย่าง การโรดโชว์ ฯลฯ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศมีประมาณ 10% บริษัทวางเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาท จากขณะนี้ที่มียอดขายรวม 1,000 ล้านบาท ส่วนในอีก 2 ปีจะขยายตลาดไปอินโดนีเซีย และภายใน 3-5 ปีจะขายให้ครอบคลุมทั่วอาเซียน"

[caption id="attachment_100033" align="aligncenter" width="335"] สุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์  กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) สุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์
กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

ด้านนายสุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายเพิ่มรายได้ในกลุ่มอินเตอร์เทรดในระยะ 5 ปีนับจากนี้จะมีสัดส่วนรายได้ 20% หรือประมาณ 800-1,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 7% หรือประมาณ 350 ล้านบาท ของกลุ่มเทรดดิ้ง ซึ่งกลยุทธ์การผลักดันให้ได้รายได้ตามเป้าหมาย คือ การเพิ่มสินค้าใหม่เข้าทำตลาด และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น สำหรับสินค้าที่เข้าไปทำตลาดในต่างประเทศ จะมีทั้งกลุ่มอาหาร ขนมขบเคี้ยว สินค้าอุปโภคบริโภค สกินแคร์ และ น้ำมันเครื่องสำหรับรถ จากผู้ประกอบการของไทยทั้งระดับใหญ่และเอสเอ็มอี รวมถึงสินค้าที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาด้วย

ปัจจุบันบริษัทส่งสินค้าออกไปทำตลาดทั้งกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งในเมียนมาเป็นการทำตลาดน้ำมันเครื่องคลาสตอล ส่วนประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม จะเน้นสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยว และสกินแคร์ ประเทศจีนมีสินค้าขนมขบเคี้ยว ข้าวสารบรรจุถุง เส้นหมี่ และหมอนยางพารา ส่วนประเทศอินเดียเป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยวเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตบริษัทจะเพิ่มสินค้าเข้าไปทำตลาดในแต่ละประเทศให้มากขึ้น

"ตอนนี้มีสินค้าแบรนด์ไทยที่ให้บริษัทนำไปจัดจำหน่ายหลายแบรนด์ อาทิ ชาเขียวโออิชิ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย บ้านมะขาม ครีมโยโกะ ถั่วกรีนนัท ปลาเส้นฟิชโช่ ซึ่งได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีสินค้าของเอสเอ็มอีที่ต้องการให้บริษัทนำไปทำตลาดต่างประเทศอีกจำนวนมาก ซึ่งบริษัทพร้อมส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง เส้นหมี่ หมอนยางพารา และข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ที่ถือว่าเป็นสินค้าที่มีโอกาสและศักยภาพการทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งปีนี้และปีหน้าจะเน้นการเข้าไปทำตลาดในเมียนมาและจีนเป็นหลัก"

ส่วนการทำตลาดจะเข้าไปเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นและเน้นการสร้างแบรนด์ อาทิ ร่วมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จัดทำทริปพิเศษสำหรับลูกค้าผู้โชคดีที่ซื้อข้าวสารหอมมะลิ ที่จำหน่ายในประเทศจีน หาผู้โชคดีจำนวน 10 คู่ มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ และพาเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเป็นต้น

ส่วนนายมงคล บัณฑรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียดนาม) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศเวียดนาม ในเครือบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า เวียดนามเป็นตลาดที่มีโอกาสและศักยภาพสำหรับนักธุรกิจคนไทย เนื่องจากมีขนาดตลาดใหญ่และจำนวนประชากรมากกว่า 90 ล้านคน ส่วนธุรกิจค้าปลีกยังมีขนาดเล็กกว่าประเทศไทย สามารถขยายตัวได้อีกมาก จึงมีสินค้าแบรนด์ไทยติดต่อที่จะให้บริษัทนำไปจัดจำหน่ายในเวียดนามอีกจำนวนมาก

"ช่วงปลายปีนี้จะเพิ่มสินค้าใหม่ที่เป็นแบรนด์ไทยเข้าไปทำตลาดในเวียดนามเพิ่ม อาทิ ขนมขบเคี้ยวแบรนด์โก๋แก่ อาหารแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทานอีก 4-5 แบรนด์ด้วย จากก่อนหน้าที่นำสินค้าเครื่องดื่มกระทิงแดง ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว และดัชมิลล์ ไปทำตลาด ส่วนสินค้าของกลุ่มบีเจซีที่ทำตลาดอยู่ในเวียดนาม จะเป็นแบรนด์เซลล็อกซ์ และมีแบรนด์ช้าง ของกลุ่มทีซีซีด้วย”

ขณะที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟกล่าวว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการเข้าไปทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์อย่างจริงจังในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา จากในอดีตที่สินค้าเหล่านี้มีการนำเข้าไปวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่มีการลงทุนอย่างจริงจังทั้งด้านการตั้งโรงงานและการทุ่มงบการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ ทั้งนี้เพื่อรองรับการรวมเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งถือเป็นโอกาสของธุรกิจไทย การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งจะทำให้สามารถขยายธุรกิจและแข่งขันในตลาดนั้นๆ ได้

"เวียดนามเป็นตลาดที่มีความพร้อมมากที่สุดในการจะรุกเข้าไปทำธุรกิจ หลังจากที่ส่งสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายมากมาย แต่การจะลงทุนสร้างโรงงานในขณะนี้ยังไม่มี จำเป็นจะต้องสร้างระบบการกระจายสินค้า การบริหารจัดการ รวมถึงสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและมีความแข็งแกร่ง และเมื่อได้รับการตอบรับที่ดี จนมั่นใจ ขั้นตอนของการลงทุนตั้งโรงงานจะตามมา"

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ดูแลกลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทนำเข้าสกอตช์วิสกี้ เข้าไปทำตลาดในเวียดนาม ในต้นปีหน้าบริษัทจะเริ่มส่งออกสุราไทยไปจำหน่ายที่เวียดนามเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและคัดเลือกแบรนด์ที่เหมาะสม หรืออาจจะพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อวางจำหน่ายในเวียดนามโดยเฉพาะ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่จะใช้เป็นจุดแข็งในการทำตลาดแล้ว บริษัทจะเน้นการซินเนอยี่กับบริษัทในเครือ ทั้งเอฟแอนด์เอ็น , เบอร์ลี่ยุคเกอร์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดและการแข่งขันด้วย

ทั้งนี้แต่ละปีบริษัทใช้งบการตลาดในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์แบรนด์เครื่องดื่มตราช้าง ซึ่งประกอบไปด้วย เบียร์ น้ำดื่ม และโซดา รวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งการจะใช้งบลงทุนในแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและช่วงจังหวะเวลา รวมถึงการจะเลือกใช้กลยุทธ์การตลาด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเบฟมีสินค้าวางจำหน่ายใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งนับจากนี้บริษัทจะเน้นการทำตลาดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นายอายุวัต จงเจริญชัยกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดร.แกลม จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่นำแบรนด์อินฟินิตี้เข้าไปทำตลาดในเมียนมาเมื่อกลางปีที่ผ่านมาผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด และต่อจากนี้จะขยายตลาดและทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างจริงจัง พร้อมกับแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในปีหน้าบริษัทจะใช้งบประมาณราว 30% จากงบประมาณทางการตลาดรวม ในการรุกตลาดและทำกิจกรรมทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียนพร้อมกับการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในการรุกตลาด โดยในปีนี้บริษัทจะมีรายได้รวม 150 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากภูมิภาคอาเซียน 20% และตั้งเป้าที่จะมีรายได้ในอาเซียนเติบโตเฉลี่ย 5-10% ต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559