ไทยพร้อมหรือยัง... กับ‘รถพลังงานไฟฟ้า’

23 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
หลังจากที่รัฐบาลเปิดทำเนียบต้อนรับรถพลังงานไฟฟ้าหรือรถอีวี จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่า จะมาทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในไม่ช้า ดังนั้นเพื่อความชัดเจนและกระแสข่าวที่ถูกต้อง นสพ.ฐานเศรษฐกิจจึงได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ มาร่วมเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “ไทยพร้อมหรือยัง..กับรถพลังงานไฟฟ้า” ณ อาคารฐานการพิมพ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน2559 ที่ผ่านมา

[caption id="attachment_100043" align="aligncenter" width="500"] เสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “ไทยพร้อมหรือยัง..กับรถพลังงานไฟฟ้า” เสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “ไทยพร้อมหรือยัง..กับรถพลังงานไฟฟ้า”[/caption]

สร้างความพร้อมในระยะยาว

ผู้ร่วมเสวนาท่านแรก ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งนายกกิตติมาศักดิ์ สมาพันธุ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า กระแสข่าวรถพลังไฟฟ้าสืบเนื่องจากรัฐบาลมีมติครม.เห็นชอบให้สนับสนุนรถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีผู้นำเสนอโครงการดังกล่าวคือกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากเครื่องยนต์สันดาบภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า โดยเป้าหมายหลักคือ จะต้องมีการผลิตจากฐานผลิตในไทย

“ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะต้องทำอย่างไรให้อยู่ในระดับแอดวานซ์ ให้เติบโตเท่ากับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงเกิดคำว่า “นิว เจเนอเรชัน” โดยมีการศึกษาควบคู่ไปกับการดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนที่นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าอยากเห็นรถไฟฟ้าวิ่งได้ในเดือนพฤศจิกายนนั้น เบื้องต้นประเมินว่าเป็นรถบัสโดยสารพลังไฟฟ้าที่ทดลองนำมาใช้งานก่อนในระยะแรก

ติดตั้งชาร์จเจอร์ 100 ยูนิตภายใน 3 ปี

ขณะที่ในอนาคตหน่วยงานด้านพลังงานก็มีการวางแผนงานรองรับ ทั้งแผน 15-20 ปี โดยแบ่งออกเป็นเฟสต่างๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบันเฟสแรกได้ทำการอนุมัติและให้การสนับสนุน ทำให้เกิดรถบัสโดยสารที่เป็นอีวี พร้อมทั้งมีสถานีชาร์จไฟรองรับ โดยจะมีการติดตั้งชาร์เจอร์ 100 ยูนิต ผ่านงบประมาณสนับสนุนจำนวน 76 ล้านบาทภายใน 3 ปี นางเพียงใจ กล่าว พร้อมให้ความเห็นต่อไปว่า

“ช่วงแรกจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการผลิตในไทย ซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีการสร้างดีมานด์ ให้ลูกค้ารับรู้และเกิดความต้องการก่อน ให้ผู้บริโภคตระหนัก และเห็นประโยชน์จากรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างๆเมื่อเห็นว่ามีความต้องการตลาดก็จะเกิดความเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้นอาจจะใช้เวลา 3 ปี ดังนั้นยืนยันว่าเบื้องต้นของการทำตลาดรถไฟฟ้าจะต้องเป็นการนำเข้า”

นิสสันมีรถไฟฟ้าพร้อมแล้ว

การนำรถไฟฟ้ามาใช้งาน จะมีเงื่อนไขรายละเอียดตั้งแต่การชาร์จไฟฟ้า ,การคิดคำนวณค่าไฟ,การเตรียมระบบต่างๆรองรับ โดยเฉพาะระบบชาร์จ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ นอร์มอล ชาร์จ แบบปกติใช้เวลา 8 ชั่วโมง ยกตัวอย่าง นิสสัน ลีฟ หากชาร์จไฟเต็ม 100% จะสามารถวิ่งได้ 200 กิโลเมตร แบบที่ 2 คือ ควิก ชาร์จ หรือชาร์จด่วน ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีควิกชาร์จเจอร์จำนวน 10 แห่งให้บริการ และในปีหน้าจะมีจำนวน 20 แห่ง

นางเพียงใจ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมให้ไทยเป็นฐานผลิตรถไฟฟ้าในอนาคต เป็นสิ่งที่จำเป็น “ถ้าไทยยังอยู่กับที่ อาจจะอยู่ในภาวะถอยหลัง เพราะเมื่อมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างมาเลเซีย ที่แม้จะเป็นประเทศเล็กแต่มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ปี 2014 เกี่ยวกับกรีน คาร์ หรือรถไฟฟ้า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไทยในตอนนั้นยังเน้นไปที่รถอีโคคาร์ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ก็มีโรดแมป สนับสนุนกรีน เทคโนโลยี ส่วนเวียดนาม แม้จะดูว่าล้าหลังจากไทย แต่ก็มีการสนับสนุน ล่าสุดคือให้มีรถแท็กซี่ไฟฟ้า โดยตั้งเป้า 1 หมื่นคันภายใน 5 ปี

มาสด้าชี้ลดไอเสียเป็นเทรนด์โลก

ทางด้านนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ค่ายรถยนต์ที่คลอดรถอีโคคาร์ 2 ออกมาเป็นรายแรก ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้าถือเป็นเรื่องที่ดีในอนาคต และแม้ว่ามาสด้าจะไม่ได้มีสินค้าที่เป็นรถไฟฟ้าแต่มาสด้ามีเทคโนโลยี และในระหว่างทางก่อนที่จะก้าวไปสู่รถไฟฟ้า ก็ยังมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นไฮบริด ,ปลั๊กอิน ไฮบริด อย่างไรก็ตามหากรัฐวางรถไฟฟ้าให้เป็นอัลติเมต โกลว์ ก็ต้องมีความชัดเจน ประเด็นต่อมาคือ ประโยชน์ที่จะได้รับ รถไฟฟ้ามีข้อจำกัดอะไรไหม และผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

สำหรับมาสด้าเป็นบริษัทฯเอกชน เวลามีนโยบายจากรัฐบาลออกมาและต้องบอกกล่าวกับบริษัทแม่จะมีความยากลำบาก อย่างไรก็ดีมองว่านโยบายรัฐที่ออกมาถือว่าโอเค แต่ว่าต้องมีความชัดเจน ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถปิคอัพ , รถอีโคคาร์, รถที่รองรับอี 85 จวบจนปัจจุบันที่เน้นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง ซึ่งถือเป็นโกลบัลเทรนด์อยู่แล้ว นอกจากนั้นแล้วพฤติกรรมของผู้บริโภค มองว่ารถไม่ใช่แค่ยานพาหนะ การใช้รถอีโคคาร์ไม่ได้หมายความว่ามีเงินน้อยแต่เป็นรถที่สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของได้ โดยพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปทางสากลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเทรนด์ที่รัฐบาลไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลกก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตามในต่างประเทศจะมีการให้ความรู้เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับรถประเภทนี้ แต่สำหรับประเทศไทยต้องศึกษาว่าผู้บริโภคได้เล็งเห็นความสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน คือมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป

ชี้โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม

ด้านนายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวถึงแรงกระเพื่อมที่อาจตามมาหากรถอีวีเกิดขึ้นเร็วว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือกระแสข่าวเรื่องอีวีมีทุกวัน ทำให้นึกถึงสมัยที่ส่งเสริมใช้เอ็นจีวีช่วงแรกๆ และตอนนี้ผลที่เกิดขึ้นคือ ปั๊มเอ็นจีวี ทยอยปิดตัวลง ดังนั้นมองว่ารัฐฯจะต้องมีนโยบายกำกับดูแลไม่ควรบิดเบือนตลาด เพราะตรงจุดนี้มองว่าของใหม่ต่อให้มีราคาแพงแต่ถ้าติดตลาดแล้วลูกค้าก็ยอมซื้อ มองว่าควรนำมาทดลองตลาดก่อน หลังจากนั้นก็ต้องดูโครงสร้างพื้นฐาน ดูกระแสไฟฟ้าว่าเพียงพอไหม และเหมาะกับการใช้ไฟบ้านหรือไม่อย่างไร บางคนซื้อรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไปชาร์จไฟบ้าน เบรกเกอร์ก็ตัดไฟเอง

“เราไม่อยากให้รัฐบาลส่งสัญญาณผิด การจะลงทุนต้องมีตลาดในประเทศรองรับก่อน ถ้าหากรีบเกินไปจะมีผลต่อนักลงทุน อีกประการที่ต้องคำนึงคือขยะข้ามชาติ กล่าวคือแบตเตอรี่ที่หมดอายุแล้ว จะมีวิธีการกำจัดซากอย่างไร รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนสำหรับเรื่องนี้ด้วย”

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า รถไฟฟ้าถือเป็นเทรนด์ของอนาคตก็จริง แต่ก็เกิดคำถามว่าไทยเราต้องการอะไรจากรถไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดในประเทศ 40% และอีก 60 %เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นหากมีการผลิตรถไฟฟ้า แล้วรถไฟฟ้าจะอยู่ตรงไหน หรือไทยจะผลักดันให้รถไฟฟ้าเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ต่อจากปิกอัพ ,อีโคคาร์ หรือไม่

หากใช่สำหรับประเทศไทย ก็ต้องมีการวางกลยุทธ์ให้ชัดเจน และก้าวไปสู่ตรงนั้น หรือหากไทยอยากจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิต 1 ใน 5 ของโลก ก็ต้องไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร เพราะปัจจุบันไทยมีแนวทางและมีแผนอยู่แล้ว

บทสรุปของ การเสวนาโต๊ะกลม “ไทยพร้อมหรือยัง..กับรถพลังไฟฟ้า”ครั้งนี้ บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องพิจารณา ดังนั้น แผนการผลักดันการผลิตรถไฟฟ้าในไทยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับอนาคตในระยะยาว!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559