ทุนไทย-เทศแห่ลงทุนรับเบอร์ซิตี อินเดียเล็งตั้งรง.ผลิตยางล้อรถยนต์

23 ก.ย. 2559 | 12:15 น.
กนอ.เผยนิคมอุตสาหกรรมยางพาราคืบ สัปดาห์หน้าเตรียมเปิดโรงงานต้นแบบ ให้เอสเอ็มอีเข้าดำเนินการ 3 โรงงาน และอีก 7 รายจ่อลงทุนตามมา ส่วนการดึงทุนต่างชาติ รุกเจรจาต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากอินเดีย ลงดูพื้นที่แล้ว หากสนใจลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่จีนมาแน่อยู่ระหว่างตัดสินใจเช่าโรงงานหรือซื้อที่ดินผลิตถุงยางอนามัย และมาเลเซียซื้อที่ดินผลิตที่นอนยางพารา

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพาราหรือรับเบอร์ซิตี้ จังหวัดสงขลาว่า จากที่กนอ.ได้ว่าจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานในนิคมฯ เพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าประกอบกิจการในวงเงิน 1,449 ล้านบาท ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 630 ไร่ แบ่งการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปขนาดเล็ก 25 ไร่ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้เข้ามาเช่าโรงงาน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้า 12 % แล้ว

โดยในวันที่ 28 กันยายนนี้ ทางกนอ.จะเปิดโรงงานมาตรฐาน ขนาดพื้นที่ 3,000 ตารารางเมตร จำนวน 3 โรงงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เอกชนที่ทำสัญญาเช่าพื้นที่เข้าประกอบกิจการแล้ว จำนวน 3 ราย เข้าประกอบธุรกิจ เช่น รายแรกผลิตยางคอมปาวด์หรือการผลิตยางต้นน้ำเพื่อนำไปต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่อไป ใช้เงินลงทุนราว 30 ล้านบาท รายที่ 2 ผลิตยางรองส้นรองเทา ใช้เงินลงทุนราว 10 ล้านบาท และรายที่ 3 ผลิตที่รองพาชนะ เงินลงทุนราว 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางกนอ.จะเร่งพัฒนาพื้นที่ให้ทันกับความต้องการของผู้ประกอบการ เนื่องจากเวลานี้มีเอสเอ็มอีในท้องถิ่นสนใจที่จะเข้ามาเช่าโรงงานจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่ที่มีอยู่ 25 ไร่ หากประเมินจากความสนใจน่าจะเต็มพื้นที่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่เข้ามาจองพื้นที่แล้วอีกประมาณ 7 ราย ซึ่งหากประเมินในส่วนนี้น่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ในระยะแรกนั้น คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2560 ที่จะสามารถรองรับเอสเอ็มอีได้ 20-30 ราย และจะเสร็จเต็มพื้นที่ภายในต้นปี 2561 เพื่อรองรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยกนอ.คาดว่าในพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถรองรับโรงงานได้กว่า 70 โรงงานภายในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และมีการใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นตันต่อปี

นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดึงนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนจากจีน มาเลเซีย และอินเดีย โดยล่าสุดเมื่อวนที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา มีทางนักลงทุนจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตล้อรถยนต์รายใหญ่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และได้ลงดูพื้นที่ของนิคมฯแล้ว เพื่อจะผลิตยางล้อรถยนต์ ใช้เงินลงทุนราวไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ใช้พื้นที่ราว 300 ไร่ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในเวลานี้ว่าจะมาลงทุนจริงหรือไม่ เพราะอาจจะตระเวนหาพื้นที่ในประเทศต่างๆ อยู่ แต่จากการหารือเบื้องต้นทราบว่าทางอินเดียจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยในอันดับต้นๆ

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของนักลงทุนจากประเทศจีน ที่จะเข้ามาลงทุนผลิตถุงยางอนามัย ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเช่าโรงงานขนาดใหญ่พื้นที่ 3-4 พันตารางเมตรหรือจะจัดซื้อที่ดินราว 4 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานเอง ซึ่งการลงทุนจากจีนนี้ค่อนข้างมีความแน่นอนแล้ว จะใช้งบลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท ส่วนของนักลงทุนจากมาเลเซีย ขณะนี้ได้มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อที่ดินแล้ว 10 ไร่ เพื่อผลิตที่นอนยางพารา ใช้เงินลงทุนราว 40-50 ล้านบาท และในช่วง 2-3 เดือนนี้ มีแผนที่จะจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก รวมถึงมีนักลงทุนไทยที่สนใจจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจี ขนาด 10 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ลงนามจัดซื้อที่ดินแล้ว 11 ไร่ และในอนาคตอันใกล้จะขยายเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับนิคม

ทั้งนี้ การที่นิคมดังกล่าวไดรับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงแรกนี้ นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์สูงสุด จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อนได้อีก 5 ปีแล้วนั้น ยังมีส่วนเพิ่มเติมในส่วนของการซื้อที่ดินแปลงแรกจะได้ส่วนลด 15% แปลงต่อไปได้ส่วนลด 20% หากเป็นการเช่าโรงงานจะฟรีค่าเช่า 3 ปี และหากเช่าเป็นโรงงานผลิตคอมปาวด์จะฟรีค่าเช่า 5 ปี เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559