ชุบชีวิตใหม่เชอร์โนบิล ด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์ม 4 GW

23 กันยายน 2559
โศกนาฏกรรมโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองเชอร์โนบิลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 (ขณะนั้นเชอร์โนบิลยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันเป็นดินแดนของประเทศยูเครน) ยังคงเป็นเรื่องราวที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีจากการได้รับกัมมันตรังสีโดยตรงถึง 50 คนจากนั้นก็ทยอยปลิดปลิวทิ้งชีวิตเหมือนใบไม้อีก 4,000 คนจากอาการเจ็บป่วยหลังสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ในเวลานั้นทางการสหภาพโซเวียตต้องสั่งอพยพประชาชนกว่า 350,000 คนออกจากพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ามรณะแห่งนี้

[caption id="attachment_100133" align="aligncenter" width="500"] โซลาร์ฟาร์มเชอร์โนบิล โซลาร์ฟาร์มเชอร์โนบิล[/caption]

เวลาผ่านมา 30 ปี ยูเครนต้องการสร้างเรื่องราวน่าจดจำใหม่ๆ เกี่ยวกับเชอร์โนบิล ซึ่งปัจจุบันพื้นที่โรงงานไฟฟ้าและอาณาบริเวณโดยรอบก็ยังคงว่างเปล่าไร้ผู้อยู่อาศัย ภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ เชอร์โนบิลโฉมใหม่จะกลายเป็นที่ตั้งของโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 4 กิกะวัตต์ แผนการดังกล่าวยังคงเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องมีการพิจารณาและร่วมหารือของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

[caption id="attachment_100132" align="aligncenter" width="500"] โซลาร์ฟาร์มเชอร์โนบิล โซลาร์ฟาร์มเชอร์โนบิล[/caption]

ข่าวในเบื้องต้นระบุว่า ภายใต้แผนการดังกล่าว โซลาร์ฟาร์มเชอร์โนบิลจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณราว 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตสูงสุดที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเคยทำได้เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายในโครงการยังจะเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆนอกจากแสงอาทิตย์อีกด้วย อาทิ พลังงานชีวมวลและพลังงานความร้อน เบื้องต้นทางโรงงานจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดราว 1,000 เมกะวัตต์ และจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 400 เมกะวัตต์

ปัจจุบันพื้นที่ห้ามอยู่อาศัยนั้นคือพื้นที่ในรัศมี 1,000 ตารางกิโลเมตรจากตัวโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เดิม เนื่องจากความเป็นไปได้ของกัมมันตรังสีตกค้างซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต อีกทั้งยังไม่สามารถพลิกผันให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร ผู้นำของยูเครนจึงมองว่าการพัฒนาอาณาบริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีความเหมาะสมและน่าจะมีความเป็นไปได้ ที่สำคัญคือ โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารยุโรปเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา หรือ EBRD (European Bank for Reconstruction and Development ) อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559