เมียนมาเชื่อลงทุนอเมริกันขยายตัว

23 ก.ย. 2559 | 13:00 น.
หนังสือพิมพ์อีเลฟเว่นเมียนมารายงานว่าฝ่ายส่งเสริมการลงทุนเมียนมาเชื่อการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาจะเร่งตัวขึ้นหลังการเยือนสหรัฐอเมริกาของนางอองซาน ซูจี

นายอองเนียงอู เลขาธิการสำนักบริหารบริษัทและการลงทุน (Directorate of Investment and Company Administration-DICA) ให้สัมภาษณ์อีเลฟเว่นเมียนมาว่า ประเทศเมียนมาในปัจจุบันสามารถดึงการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะธุรกรรมผ่านธนาคารต่างประเทศขณะนี้สามารถทำได้อย่างสะดวกทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น
อีเลฟเว่นเมียนมา ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันมีบันทึกตัวเลขอยู่ที่ 4.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 169.2 ล้านบาท) เท่านั้น แต่เมื่อรวมการลงทุนทางอ้อมจะอยู่ที่ 248 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8,928 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่นับรวมการลงทุนที่ผ่านประเทศอื่น

นายอองเนียงอู กล่าวว่า การลงทุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อรวมตัวเลขการลงทุนที่ผ่านประเทศสิงคโปร์ ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของบริษัทโคคา-โคลาฯ และการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นไปใกล้ 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 72,000 ล้านบาท)

เมียนมาอีเลฟเว่นรายงานว่า บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่ลงทุนในเมียนมา นอกจากโคคา-โคลา แล้วยังมีบริษัท Frontiirบริษัท Haker Enterprises บริษัท เอ็กซ์เพรสฟู้ดกรุ๊ปฯ บริษัท อพอลโลทาวเวอร์สฯ บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟฯ บริษัท อิรวดีกรีนทาวเวอร์สฯ บริษัทอะการ์วินคีสโตนฯ (Agarwin Keystone) บริษัท ยูโนแคลออฟชอร์แอนด์โรยัลมารีนเอ็นจิเนียริ่งฯ บริษัท เบนช์เมดเอเชียฯ ( Benchmade Asia ) และบริษัท โกลเบิ้ลแอพพาเรลเท็กซ์ไทล์แมนูแฟคเจอริ่งฯ

นายอองเนียงอู ระบุว่าการลงทุนตรงจากสหรัฐอเมริกาจะเร่งตัวขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกายกเลิกการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา “มาตรการแซงก์ชันทำให้ ธุรกรรมทางการเงินที่เป็นเงินดอลลาร์ที่ผ่านระบบธนาคารมีปัญหา ทำบริษัทจำนวนมากไม่สนใจลงทุนเพราะไม่อยากจะประสบความยุ่งยากในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน หลายบริษัทต้องทำผ่านประเทศสิงคโปร์”

สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา หลังจากได้พบกับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งเมียนมาซึ่งเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ได้ประกาศในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะยกเลิกการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อประเทศเมียนมา โดยคาดว่าจะมีการให้สิทธิทางภาษีจีเอสพีแก่สินค้าจากเมียนมา 5,000 ชนิดและข้อกีดขวางทางการค้าโดยรวมในบางเรื่อง แต่แซงก์ชันในบางเรื่องยังไม่ยกเลิกเพื่อกดดันให้ฝ่ายทหารเดินหน้าประเทศให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

เมียนมาอีเลฟเว่น ระบุว่าโดยรวมแล้ว การลงทุนต่างชาติในเมียนมาในปีงบประมาณปีนี้ ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายนที่ผ่านมาและสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้าจะมีมูลค่ารวม 6,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 216,000 ล้านบาท)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559