แผน‘แจส’ลุยบรอดแบนด์ ใช้เรือธง3BBกวาดลูกค้า3ล้านรายครองตลาดปี60

22 กันยายน 2559
ไขปริศนา"แจส"เตรียมตั้งโต๊ะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นมูลค่า 4.25 หมื่นล้าน กางแผนผงาดเจ้าตลาดบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต ตั้งเป้าปี60 "3BB" มีลูกค้า 3 ล้านราย ด้านที่ปรึกษาการเงินกลุ่มจัสมินโต้เล่นเกมราคา ไม่เคยคิดขายหุ้น ขณะที่บิ๊กดีแทค"ปฏิเสธข่าวลือสว็อปหุ้น แบงก์ไทยพาณิชย์มั่นใจปล่อยกู้ไร้เสี่ยง นักวิเคราะห์ชี้จับตาเกมใหญ่ควบรวมกับค่ายมือถือ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ แจส ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อประกาศซื้อหุ้นคืนทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 4.25 หมื่นล้าบาทด้วยวิธีการทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป (TENDER OFFER) ที่ราคา 7.25 บาท และ JAS-W3 หุ้นละ 3.68 บาทตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 - 3 พฤศจิกายน 2559 และ มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงิน โดยนายพิชญ์ได้ชี้แจงถึงเหตุผลการทำคำเสนอซื้อครั้งนี้มีเจตนาที่จะถือหุ้นมากกว่าในปัจจุบันซึ่งสามารถบริหารงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

รุกบรอดแบนด์ลั่น3ล้านรายปี60

ต่อเรื่องนี้นายชาญ บูลกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บรุ๊คเกอร์ กรุ๊ป (BROOK) และในฐานะที่ปรึกษาการเงินของกลุ่มจัสมินให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่นายพิชญ์ทำคำเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สอง เพื่อต้องการจะเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของ จากปัจจุบันที่พิชญ์ถือหุ้นบริษัทสัดส่วน 25.84% แต่ต้องการถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือต้องการขยายธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ภายใต้ชื่อ "3BB"ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงของกลุ่ม โดยตั้งเป้าลูกค้าปี 2560 เพิ่มเป็น 3 ล้านราย

3BB อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด(มหาชน) โดยในไตรมาส 2/2559 มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 120,642 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 จำนวนลูกค้าเพิ่มสุทธิอยู่ที่ 85,773 รายหรือเพิ่มขึ้น41% ซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 มีลูกค้ามากกว่า2 ล้านราย

"เราไม่มีมือถือทำไม่เป็นไร เราทำเก่งเรื่องบรอดแบนด์อย่างเดียวก็พอใจแล้ว เพราะจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 20% เท่านั้นยังมีอัตราการเติบโตที่ขยายตัวสูง" นายชาญกล่าว

ต่อคำถามที่ว่าหลังจากนายพิชญ์ซื้อหุ้นคืนได้ทั้งหมดจะขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติหรือไม่ นายชาญ กล่าวว่า ไม่มีพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ “คุณพิชญ์ไม่ทิ้งธุรกิจ เขาไม่ขายให้ใคร สิ่งที่ทำต้องการให้ภาพลักษณ์แจสดีขึ้น ซึ่งคุณพิชญ์ได้เข้ามาปรึกษาทุกเรื่อง”

ออนแอร์3BB คลุม8หมื่นหมุ่บ้าน

อย่างไรก็ตามจากความเคลื่อนไหวล่าสุดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์3BB จะเห็นว่าเริ่มออนแอร์โฆษณาในข้อความว่า "3BB ให้บริการถึง8หมื่นหมู่บ้านแล้วทั่วประเทศ" นอกจากนี้JAS ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เข้าลงทุนในเส้นใยแก้วนำแสงซึ่งพัฒนาและบริหารจัดการโดยบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS

ทั้งนี้ความสำคัญของโครงข่ายใยแก้วนำแสงดังงกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญของโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งสามารถให้บริการแบบสื่อสามประสาน(Triple Play) ในลักษณะออนดีมานด์ ได้แก่ การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (VoIP) และบริการชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (IPTV) โครงข่ายใยแก้วนำแสงมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม JASIF ได้เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้วและนำเงินลงทุน แบบมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเส้นใยแก้ว นำแสงจำนวนประมาณ 9.8 แสนคอร์กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วย ส้นใยแก้วนำแสงจำนวนไม่น้อยกว่า 8 แสนคอร์กิโลเมตร ที่ TTTBB จะส่งมอบและโอนให้ JASIF ณ วันซื้อขายเส้นใยแก้วนำแสงเสร็จสิ้น และ เส้นใยแก้วนำแสงจำนวน1.8แสนคอร์กิโลเมตร ที่ TTTBB จะทยอยส่งมอบและโอนให้ JASIF ภายใน 2 ปี นับจากวันซื้อขายเส้นใยแก้วนำแสงเสร็จสิ้น

บิ๊กดีแทค"ปฏิเสธ "แจส"สว็อป

หลังจากแจสทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์มีกระแสข่าวลือว่าจะเข้าเป็นพันธมิตรกับดีแทคนั้นล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยถึงกระแสข่าวลือดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง

นักวิชาการชี้ปรับโครงสร้าง

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า เชื่อว่าแจส ซื้อหุ้นคืนเพื่อปรับโครงสร้างเพื่อลุยธุรกิจบางอย่างเพื่อให้ได้อำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายใต้ชื่อ "3BB" ถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจถอยไปรบบนสมรภูมิที่มีอยู่เดิมเพราะอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ปัจจุบันเอไอเอส ทำไฟเบอร์ออพติก กลุ่มทรู ก็ทำเช่นเดียวกัน

SCBปล่อยกู้พิชญ์ 4.25 หมื่นล.

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่าการปล่อยสินเชื่อ 4.25หมื่นล้านบาท ครั้งนี้พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงน้อย เนื่องจากธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ถือเป็นธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว แต่ละปีจะมีกระแสเงินสด 5,000 ล้านบาท และเงินปันผลที่ได้แต่ละปีเพียงพอต่อการนำมาชำระหนี้ธนาคารใช้เวลาผ่อนไม่ถึง 10 ปี ก็ชำระหนี้ได้ทั้งหมด ปัจจุบันนายพิชญ์ถือหุ้น JASอยู่ 25.84% แต่ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนบริษัทโทรคมนาคมอื่นๆ ซึ่งถือหุ้นเกิน 50% และหากซื้อหุ้นเพิ่มเพียง1 หุ้น ตามเกณฑ์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด ดังนั้นนายพิชญ์ จึงใช้เงินกู้ของธนาคารทำคำเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ โดยมีหุ้นJAS ที่นายพิชญ์ถืออยู่เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันรวมทั้งหุ้นแจส ที่ซื้อเข้ามาใหม่ด้วย

“การปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ต่างกับช่วงเข้าประมูลคลื่น 4 จี เพราะหากประมูลได้ต้องจ่ายค่าสัมปทานและใช้เงินลงทุนอีกไม่รู้ว่ารายได้จะเพียงพอชำระหนี้หรือไม่แต่การปล่อยสินเชื่อครั้งนี้เป็นธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว มีกระแสเงินสดที่ชัดเจน รายได้จากเงินปันผลนำมาชำระหนี้ธนาคารได้

รับเจรจาลูกหนี้ 1 เดือน

นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กว่าจะมาเป็นดีลในวันนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการพูดคุยกัน เพื่อดูเครดิตและดูเทรนธุรกิจของต่างประเทศ ซึ่งธนาคารมองว่าเป็น Good Deal Business ทั้งในด้านรายได้และกำไร โดยรายได้ดีตามสมควร เหมือนดีลใหญ่ที่ทำ เราต้องเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้า แต่หากลูกค้าดีแต่เน้นไปแข่งประมูลคงไม่มีรายได้ แต่กรณีนี้ดูแล้วสามารถชำระคืนเงินได้ ไม่ได้เอากระแสเงินสดไปลงทุน และเราก็ไม่ได้ติดปัญหา Single Lending Limit : SSL หรือการปล่อยกู้ต่อรายเกินเกณฑ์ของกองทุนแต่อย่างใด

จับตา"ควบรวม"กับค่ายมือถือ

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่าจากกรณีนายพิชญ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่แจส ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดที่ 7.25 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูง สะท้อนถึงความต้องการถือหุ้นมากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร

หากพิจารณาจากแนวโน้มธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในระยะยาวที่ไม่สดใส จึงนำมาสู่การคาดหมายว่าอาจมีความสนใจจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่จะมาซื้อแจส (ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตอันดับ 2) ไปต่อยอดธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้เอไอเอส และดีแทค น่าได้ประโยชน์จากการผนึกกำลัง( Synergy) ชัดเจนใกล้เคียงกัน ส่วนทรูอาจมองไปถึงการกีดกันคู่แข่งขัน

สำหรับจุดที่ต้องพิจารณาจากนี้ คือ ความตั้งใจของนายพิชญ์ ที่ว่าต้องการขายกิจการ หรือต้องการมีส่วนร่วมบริหาร โดยในกรณีแรก ฐานะการเงินดีแทค และทรู ยังไม่น่าจะพร้อมนัก

อย่างไรก็ตาม หากนายพิชญ์ยังต้องการมีส่วนร่วมกับธุรกิจต่อไป การควบรวมกับดีแทคน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเพิ่มโอกาสอยู่รอดในธุรกิจสื่อสารที่มากขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ธุรกิจที่ยังขาดอยู่มาเติมเต็ม อีกทั้งเหมาะกับดีแทค ที่มีข้อจำกัดทางฐานะการเงินปัจจุบันที่อ่อนแอขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่

ธุรกิจแข่งขันแรง-ต้นทุนเพิ่ม

ด้านบทวิเคราะห์บล.ทิสโก้ฯ ระบุว่า การซื้อหุ้นคืนของแจสอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาที่ซับซ้อน ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจหลังซื้อหุ้นคืนเต็มไปด้วยการแข่งขันและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อย ฝ่ายวิจัยฯบล.ทิสโก้ฯ มองว่าการขายหุ้นเป็นตัวเลือกที่ดี แต่อย่างไรก็ตามการที่ไม่นำหุ้นแจสออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้แจสสามารถนำหุ้นไปขายให้กับกลุ่มที่ 3 ได้

บทวิเคราะห์บล.ทิสโก้ฯ ยังมีมุมมองต่อกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้จับแจส เป็นการข้ามเส้นทางธุรกิจซึ่งนักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของบล.ทิสโก้ฯ มองว่าเป็นผลลบต่อธนาคาร และมองว่ามีการเจรจาในอนาคตรออยู่สำหรับแจส

อนึ่งถัดมาวันที่ 20 กันยายน 2559 บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ หรือ JTS ได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขึ้นเครื่องหมาย H พักการซื้อขายหุ้น JTS เนื่องจากอยู่ระหว่างรอการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ โดย JTS แจ้งว่าเนื่องจากนายพิชญ์ ได้เข้าซื้อหุ้นแจสเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ทำให้ถือหุ้นแจสเกินกว่า 50 % ส่งผลให้มีอำนาจควบคุม JTS ทางอ้อม และมีผลให้นายพิชญ์ (ในฐานะผู้ทำคำเสนอซื้อ) ต้องประกาศรับซื้อหุ้น JTS ทั้งหมดจากนักลงทุนทั่วไปด้วย

ด้านความเคลื่อนไหวหุ้นแจส พบว่าราคาปรับตัวขึ้นร้อนแรงติดต่อกัน 10 วัน นับจากวันที่ 9 กันยายน ปิดที่ 5.5 บาท กระโดดมาปิดที่ 7.25 บาท ในวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา หรือปรับขึ้น 31.82% มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป (ณ 19 กันยายน 2559) ที่ 5.1 หมื่นล้านบาทขณะที่นายพิชญ์ ถือหุ้น 60.49%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559