ปฏิรูปแล้วหน่วยงานรัฐใส่ใจชาวบ้าน ‘วิษณุ’ ตั้งเป้าต่อ ‘ฉลาดและทันสมัย’

22 กันยายน 2559
วิษณุชี้ปาฏิหาริย์คู่มือติดต่อราชการปลุกหน่วยงานรัฐตื่น รับพอใจการพัฒนาให้บริการ บรรลุผล"เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ถูกลง" ตั้งเป้าหมายต่อไป"สมาร์ทแอนด์โมเดิร์น"รับยุคดิจิตอล หวังใช้ทรัพยากรน้อยลงได้ผลมากขึ้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ในการสัมมนาประจำปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) หัวข้อ"Start Up การบริการภาครัฐสู่ความเป็นสากล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุตอนหนึ่งว่า ในรอบทศวรรษนี้ประเทศไทยพัฒนาระบบราชการอย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือธรรมาภิบาล(Good Governance) และการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ มาประยุกต์ใช้ แต่ก็เผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงสภาพปัญหาภายในระบบราชการเองที่สะสมมา เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ขณะเดียวกันไทยอยู่ในเวทีโลกที่ถูกวัดด้วยมาตรฐานสากล เช่น อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศทั่วโลกในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของWEF (World Economic Forum) และถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 189 ประเทศของความยากง่ายในการทำธุรกิจ ที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกอันดับให้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งคือการพัฒนาบริการภาครัฐที่ต้องปฏิรูป ตามที่ระบุชัดในนโยบายรัฐบาลข้อที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล เป็นที่มาของการปฏิรูปขนานใหญ่รวมทั้งระบบราชการ

"ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานแต่ละกระทรวง กรม กอง มีกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ของตนเอง จะไปบอกให้ยกเลิกหรือผ่อนคลายลงก็ยังลังเลกันอยู่ ขณะที่ประชาชนก็ยังประสบปัญหาการไปติดต่อราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องไปขออนุมัติ อนุญาต ที่ต้องมีเอกสารหลักฐานยื่นประกอบเยอะแยะไปหมด ก็มาคิดกันใหม่ว่าไม่ต้องไปเสียเวลาแก้ทีละหน่วยงาน แต่ให้ออกกฎหมายใหม่เป็นพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 มาใช้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา"

หลักกฎหมายใหม่นี้บอกว่า ต่อไปนี้หน่วยราชการต่าง ๆ ต้องทำคู่มือการติดต่อราชการของหน่วยงานตนเองขึ้นมา จะมีกำหนดกฎเกณฑ์อะไรไปตกลงกันภายในเสียให้ชัด แล้วประกาศให้ชาวบ้านรู้โดยเปิดเผย ว่าต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไร ใช้เวลาในการพิจารณาแค่ไหนเพียงใด จะเป็น 3 วัน 5 วัน หรือ 1 เดือน ครึ่งปี ก็ได้ แต่ทั้งนี้เมื่อประกาศใช้คู่มือแล้ว ต่อไปหากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามคู่มือ หน่วยงานนั้นต้องทำหนังสือรายงานข้อขัดข้องให้ประชาชนผู้ยื่นเรื่องทุก 7 วัน จนกว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ แจ้งไม่ทันเมื่อไหร่รุ่งขึ้นโดนฟ้องได้ทันที

รองฯวิษณุกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือปาฏิหาริย์ของคู่มือ เพราะทำให้หน่วยงานต่างต้องไปพิจารณาแล้วว่า ระเบียบกฎเกณฑ์อะไรที่รกรุงรังเคยเป็นภาระกับประชาชน หน่วยงานก็จะร้องขอให้ยกเลิกไปเอง และยกระดับพัฒนาการให้บริการประชาชนกันทันตาเห็น จนมีผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ประชาชนก็รับรู้ถึงการพัฒนา ถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายขั้นแรกที่ตั้งไว้ คือ ต้องให้บริการประชาชนได้เร็วขึ้น(Faster) สะดวกขึ้น (Easier) และมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง(Cheaper) โดยรัฐบาลให้นโยบายกำชับลงไปด้วยว่า ต่อไปข้อมูลหลักฐานใดที่มีอยู่ในครอบครองของส่วนราชการอยู่แล้ว ไม่ต้องขอจากประชาชนอีก แต่ให้หน่วยงานรัฐประสานขอข้อมูลระหว่างกันเอาเอง เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ไปติดต่อหน่วยราชการครั้งหนึ่งก็ยื่นครั้งหนึ่งนั้น ต่อไปแจ้งแค่เลขประจำตัว 13 หลัก เจ้าหน้าที่จะไปดึงข้อมูลระหว่างกันมาเอง

ส่วนเป้าหมายการพัฒนาบริการสู่อนาคตนั้น ต้องพัฒนาสู่การให้บริการอย่างฉลาดและทันสมัย (Smart and Modern) การจะให้บริการอย่างชาญฉลาดนั้นคือ ต้องใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ได้ผลมากขึ้น (Less Budget More Impact) ส่วนบริการที่ทันสมัยนั้นคือ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมายกระดับการให้บริการ ซึ่งก็คือเทคโนโลยีดิจิทัล โดยพ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งก็จะรองรับกับมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ ที่ระบุว่า "รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่...." ความร่วมมือช่วยเหลือกันดังกล่าวคือ ต้องประสานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยกันได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เป็นการให้บริการภาครัฐยุคดิจิตอล

"ตอนยกร่างพ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯผู้รับผิดชอบขณะนั้น ได้สอบถามไปยังสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จากเดิมที่ใช้หลากหลายแตกต่างกันไป ได้ข้อสรุปว่าให้ใช้คำว่า"ดิจิทัล" ซึ่งได้ผ่านเป็นพ.ร.บ.ใหม่แล้ว จากนี้ไปหน่วยงานรัฐจะใช้คำว่าดิจิทัลเหมือนกันทั้งหมด"

โดยในการปฏิบัติงานต้องมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาไปสู่ความสำเร็จ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและมีส่วนได้ส่วนเสีย มีการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีกฎหมายใดออกมานานแล้วไม่เคยแก้ ไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว หรือเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ ก็ควรทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีก.พ.ร. เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการ และสะท้อนความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนา เพื่อขยายผลการพัฒนาระบบราชการอย่างกว้างขวางต่อเนื่องเป็นรูปธรรมแล้ว วันเดียวกันยังมีการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างโดดเด่นอีกด้วย โดยปีนี้มี 3 ประเภทคือ รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ รางวัลคุณภาพการให้บริการจัดการภาครัฐ และรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหาราชการแบบมีส่วนร่วม มีหน่วยงานส่งสมัครเข้ารับรางวัลรวม 535 ผลงาน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลดังกล่าวจำนวน 156 ผลงาน ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานอย่างคึกคักเต็มหอประชุมกองทัพเรือ ท่ามกลางบรรยากาศฉลองแสดงความยินดีอย่างครึกครื้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559