เมียนมาสั่งทบทวน โครงการเขื่อนใหม่หมด

22 ก.ย. 2559 | 09:30 น.
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่ารัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี สั่งให้มีการทบทวนนโยบายพลังงานของประเทศ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ พร้อมดึงแหล่งเงินตะวันตกถ่วงดุลแหล่งเงินจากจีนในโครงการสร้างเขื่อน
รัฐบาลเมียนมาเดิมมีนโยบาย เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศเพียง 3 % ให้เป็น 1 ใน 3 ภายใน 10 ปีและลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำจาก 63 % เป็น 38 % แต่การต่อต้านโรงไฟฟ้าจากถ่านหินของประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนสัดส่วนใหม่

นายออง โค โค (Aung Ko Ko) ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนพลังงานหมุนเวียนและพลังน้ำ ของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานกล่าวว่า “เราหวังว่าในที่สุดพลังงานน้ำ จะเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าในแผนที่ได้รับการทบทวนใหม่ สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำน่าจะอยู่ที่ 50-65% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2573-2574 ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซธรรมชาติ ส่วนถ่านหินจะลดลง’

รอยเตอร์ รายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้บริหารจาก 7 กระทรวงซึ่งรวมทั้งพลังงาน อุตสาหกรรม และเหมืองแร่ ได้ประชุมกันที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อวางยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานของชาติร่วมกัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีการนำโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 49 โครงการที่รับอนุมัติจากรัฐบาลชุดก่อนมาตรวจดูความก้าวหน้าและปัญหาทั้งหมด

หัวข้อในการประชุมโครงการเขื่อน 49 โครงการคือการตรวจดูว่าแต่ละโครงการจะทำเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งดูว่าจะต้องสร้างเขื่อนเพิ่มอีกจำนวนเท่าไหร่และจะหาแหล่งทุนจากที่ใด เพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้า รองรับเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 8% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดของโลก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานให้สัมภาษณ์ รอยเตอร์ ว่า “รัฐบาลใหม่เห็นว่าโครงการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ท่าน (อองซาน ซูจี) อนุมัติให้พวกเรา พูดคุยกับองค์การการเงินระหว่างประเทศรวมทั้งเอดีบี ว่าจะช่วยเป็นแหล่งเงินให้ได้หรือไม่”

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าในเมียนมาในอดีตส่วนใหญ่ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สถาบันการเงินค่ายตะวันตกสนใจปล่อยเงินกู้ในโครงการผลิตไฟฟ้าของเมียนมา แต่เป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากรัฐบาลก่อนได้อนุมัติโครงการให้กับจีน

รอยเตอร์ระบุว่าในจำนวนโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า 49 โครงการที่มีการตรวจสอบในการประชุมที่เนปิดอว์พบว่า มี 31 โครงการที่มีบริษัทจีน 11 บริษัทได้สัมปทานก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัท Hanergy Holding Corp. และ CPI Yunnan International Power Investment ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน โดยกลุ่มนี้เองที่เป็นผู้ได้สัมปทานโครงการ เขื่อนยักษ์ มิตโซน (Myitsone) มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 129,600 ล้านบาท) กั้นแม่น้ำอิรวดี ที่โดนประท้วงจนรัฐบาลของนายพลเต็ง เส่ง ต้องสั่งให้หยุดโครงการ

รอยเตอร์ ระบุว่า ฝ่ายจีนได้แจ้งรัฐบาลเมียนมา ขอเดินเครื่องก่อสร้างโครงการเขื่อนมิตโซน ต่อ ซึ่งนางอองซาน ซูจี ต้องฟังเช่นกัน เพราะเธอต้องให้จีนช่วยในการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมีบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ชายแดนเมียนมาและจีน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายไฟฟ้าพลังน้ำของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ว่า “ผมคิดว่าโครงการเขื่อนหลายแห่งต้องหยุดชะงักเนื่องจาก เพราะไม่ได้เงินกู้จากธนาคารจีนหลังจากที่เกิดเหตุการณ์หยุดโครงการมิตโซน”

นายออง โค โค กล่าวว่า “เราต้องการเงินทุนจากต่างประเทศ แต่ก็มีปัจจัยหลายเรื่องที่สถาบันการเงินนานาชาติทั้ง ไจก้า ไอเอฟซี ธนาคารโลก และเอดีบี ต่างตั้งคำถามรัฐบาลเมียนมาว่าแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างไร”

ทางด้านวิกรม คูมาร์ (Vikram Kumar) หัวหน้าสาขาของไอเอฟซี ซึ่งเป็นบริษัทการเงินเพื่อการลงทุนของธนาคารโลก กล่าวว่า สถาบันการเงินนานาชาติไม่สนับสนุนการปล่อยกู้ให้กับโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

ธนาคารโลกระบุว่าขณะนี้อัตราการบริโภคไฟฟ้าของเมียนมาอยู่อันดับท้าย ๆ ของโลก ตัวเลขในปี 2557 อยู่ที่ 164 กิโลวัตต์ต่อคน ใกล้เคียงกับประเทศซูดานและโตโก ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559