โอกาสทองของสินค้าไทย เมื่อ 'กว่างซี' ปล่อยสินค้าประเทศที่ 3 เข้าด่านการค้าชายแดน

22 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
กว่างซีเป็นเขตปกครองตนเอง (Autonomous Region) ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นตราข้อบัญญัติท้องถิ่นปกครองตนเองรวมถึงกฎระเบียบด้านระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอันเป็นลักษณะเฉพาะแห่งเขตปกครองของตนเพื่อใช้บังคับกับพลเมืองของตนภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีสร้างกระแสความฮือฮาไม่น้อย เมื่อมีการประกาศผ่อนคลายข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้านำเข้าส่งออกในการค้าผ่านตลาดการค้าชายแดนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดน และปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์

ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า การปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการค้าชายแดน หรือการค้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านของกว่างซี (ที่มีเพียงเวียดนามเท่านั้น) จะไปเกี่ยวข้องกับประเทศที่ไม่มีพรมแดนประชิดติดกันอย่างประเทศไทยของเราอย่างไร?

นั่นเป็นเพราะการปฏิรูปข้อกำหนดในครั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีเปิดช่องให้ 'สินค้าจากประเทศที่สาม'สามารถผ่านเข้า 'ตลาดการค้าชายแดน' ของกว่างซีได้อย่างถูกต้อง โดย (1) อนุญาตให้ผู้มีภูมิลำเนาตามชายแดนสามารถนำสินค้าที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันที่ผลิตจากประเทศที่สามผ่านด่าน (ตลาด) การค้าชายแดนได้ ต่างจากเดิมที่อนุญาตเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเวียดนามเท่านั้น

และ (2) อนุญาตให้ผู้มีภูมิลำเนาตามชายแดนสามารถนำสินค้าประเภทจำกัดมูลค่าไม่เกิน 8,000 หยวนต่อคนต่อวัน และประเภทจำกัดจำนวนที่มีการกำหนดปริมาณ/น้ำหนักของสินค้าที่นำเข้า ผ่านตลาดการค้าชายแดนได้โดยมูลค่ารวมของสินค้าจะต้องไม่เกินมูลค่าที่ได้รับการยกเว้นภาษี ต่างจากเดิมที่อนุญาตให้ชาวชายแดนนำเข้าสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้ สินค้าประเภทจำกัดจำนวน มีอยู่ 6 รายการ คือ (1) กลุ่มธัญพืช ไม่เกิน 50 กิโลกรัม (2) กลุ่มน้ำมันที่ใช้เพื่อการบริโภค ไม่เกิน 5 กิโลกรัม (3) น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันถ่านหิน ไม่เกิน 5 กิโลกรัม / ปุ๋ยเคมี ไม่เกิน 20 กิโลกรัม / ใบยาสูบ (ยาเส้น) ไม่เกิน 2 กิโลกรัม / นุ่น ไม่เกิน 5 กิโลกรัม (4) ฟิล์มบันทึกภาพที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (บรรจุแบบค้าปลีก) ไม่เกิน 5 ม้วน (5) แผ่นไม้อัด ไม่เกิน 2 แผ่น วัสดุไม้ ไม่เกิน 0.1 ลูกบาศก์เมตร (6) บุหรี่ 1 แถว / เหล้า 2 ขวด / เครื่องสำอาง 2 ขวด (บรรจุแบบค้าปลีก)

หากเกินมูลค่าที่ได้รับการยกเว้นภาษีจะทำอย่างไร? ในข้อกำหนดระบุให้ผู้นำเข้ามอบอำนาจให้บริษัทการค้าชายแดนเป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากร(เสียภาษี) ตามประเภทการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน (small-scale cross border trade)ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำที่ไม่เกิน 5%

ณ จุดนี้ ท่านผู้อ่านคงได้คำตอบแล้วว่า...การค้าชายแดนของประเทศที่อยู่ห่างจากภาคอีสานของไทยเกือบพันกิโลเมตรเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเราจริงๆ กล่าวได้ว่า การปฏิรูปการค้าชายแดนของกว่างซีในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกของไทย ทั้งยังเหมาะกับสินค้า SMEs ไทยที่ต้องการนำมาทดลองตลาดจีน

หากพูดถึงสินค้า เมดอินไทยแลนด์ (Made in Thailand) ในตลาดจีนนับว่ามีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับที่ดีอยู่แล้วส่งผลให้ตลาดมีความนิยมและมีความต้องการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ในครัวเรือน

คาดหมายว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยปลุกกระแสเพิ่มความคึกคักให้กับภาคธุรกิจโลจิสติกส์ในจังหวัดชายแดนภาคอีสานตอนบนของไทย โดยเฉพาะบน เส้นทางสายเศรษฐกิจR12 (นครพนม-ท่าแขก) ที่มีการใช้เป็นเส้นทางการลำเลียงสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนของไทยไปสู่จีนตอนใต้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎระเบียบการค้าชายแดนกว่างซีและความได้เปรียบด้านระยะทางการขนส่งของถนน R12 ที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตทางภาคตะวันออกภาคกลาง และภาคใต้ ที่มีอยู่เหนือเส้นทาง R9 (มุกดาหาร-สะวันนะเขต) และเส้นทางR3A(เชียงของ-ห้วยทราย)จึงเป็น 'กุญแจ' เปิดประตูการค้าและขยายช่องทางกระจายผลไม้'ไทย' สู่จีนเพิ่มขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือน่าจะช่วยลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางชาวเวียดนาม นั่นหมายความว่า...นับจากนี้ไป สินค้าสวม 'ชฎาไทย' ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาสวมเสื้อ 'อ่าวหญ่าย' เพื่อส่งผ่านตลาดชายแดนของกว่างซีอีกต่อไป

แม้ว่าค่าขนส่งสินค้าทางบกจะแพงกว่า แต่ระยะเวลาสั้นกว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง ความคล่องตัวทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาความบอบช้ำของผลไม้ที่เกิดจากการเปลี่ยนถ่ายรถขนสินค้าและการ re-packaging เป็นของเวียดนามทำให้ขายผลไม้ได้สดกว่า ได้ราคาดีกว่าจึงเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ของไทย

ในยามนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องใส่ใจ คือเรื่องคุณภาพกับความปลอดภัยของตัวสินค้า เพราะชาวจีนอ่อนไหวกับเรื่องนี้มาก นอกจากนี้ ยังควรจะต้องพัฒนาทักษะความรู้ด้านภาษาศึกษาข้อมูลด้านการค้าการลงทุนในเชิงรับและเชิงรุก รวมทั้งเรื่องกฎหมายและข้อบังคับที่ต้องติดตามเป็นระยะ ระบบโลจิสติกส์และการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด ตลอดจนข้อควรรู้อื่นๆ เช่น สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ท้องถิ่น เพื่อไม่ให้พลาดในจังหวะที่โอกาสกำลังเปิดกว้าง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้าการลงทุน รวมทั้งความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน http://www.thaibizchina.com และช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559