ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี6พันราย กองทุนพลิกฟื้นปล่อยกู้ ก.ย.นี้

21 ก.ย. 2559 | 04:00 น.
สสว.พร้อมปล่อยกู้กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี 1 พันล้านบาท ได้ ก.ย.นี้ ผู้ประกอบการ 6 พันรายได้เดินหน้าต่อแห่ขอรายละ 1 ล้านบาทเสริมสภาพคล่อง ขณะที่แผนขับเคลื่อนเอสเอ็มอีปี 60 ใช้งบบูรณาการกว่า 3.48 พันล้านบาท ตั้งเป้าหมายช่วยเอสเอ็มอี 1.25 แสนราย พัฒนาและยกระดับธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ไม่ต่ำกว่า 5.2 หมื่นกิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3.3 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_99448" align="aligncenter" width="336"] สาลินี วังตาล  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. สาลินี วังตาล
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.[/caption]

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่สสว.ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี(เทิร์น อะราวด์) โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาจำนวน 1 หมื่นราย โดยเปิดอบรมให้ความรู้ และวินิจฉัยกิจการ หากมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ สสว.จะช่วยประสานกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อน เมื่อผ่านการปรับแผนธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จะสามารถยื่นคำขอกู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีวงเงิน 1,000 ล้านบาท ได้นั้น

ล่าสุดจากการดำเนินงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้รายงานความคืบหน้าว่า ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 1.36 หมื่นราย ผ่านคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเพื่อรับคำปรึกษาแนะนำแล้วทั้งสิ้น 1.2816 หมื่นราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 6,000 ราย ที่ผ่านมาการทำแผนปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมแล้ว และต้องการขอกู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีรายละประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับการกู้เงินกองทุนฯดังกล่าวนี้ ภายในไม่เกินสิ้นเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปล่อยกู้ได้ ซึ่งระหว่างนี้ได้หารือในรายละเอียดกับทางเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ดูแลกองทุนอยู่ ว่าจะพิจารณาปล่อยกู้ให้อย่างไร เพราะจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละรายที่ยื่นขอกู้เข้ามา คงไม่สามารถให้ในวงเงินที่เหมือนกันทั้งหมดได้ และวงเงินที่มีอยู่อาจจะไม่พอช่วยเหลือ แต่อยากให้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการสบายใจได้ว่า ยังมีงบอีก 2,000 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี ที่รัฐบาลได้อนุมัติมาแล้ว ระหว่างนี้รอเพียงขั้นตอนการดำเนินงาน

นางสาลินี กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในปีงบประมาณ 2560 นั้น ทางรัฐบาลได้อนุมัติงบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวม 18 หน่วยงาน วงเงิน 3,487 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการยกระดับเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอี เพิ่มจากปีก่อนที่ใช้งบ 1,526 ล้านบาท

โดยผ่านการดำเนินงาน 4 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1.การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมแบบครบวงจร วงเงิน 1,673 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 7,000 กิจการ สร้างเอสเอ็มอีเกษตร จากวิสาหกิจชุมชน ผ่านศูนย์บ่มเพาะไม่น้อยกว่า 110 แห่ง การเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่สู่การเป็นเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 3.4 หมื่นราย สร้างธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ที่พร้อมเติบโตไม่น้อยกว่า 100 กิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

2.ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีกลุ่มทั่วไป ที่มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้นและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิตไม่น้อยกว่า 1 หมื่นกิจการ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญในการประกอบธุรกิจไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นกิจการ และให้ได้รับการพัฒนา เพิ่มมูลค่าหรือยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นกิจการ และสามารถสร้างรายได้และขยายช่องทางการตลาดในประเทศผ่านอี-คอมเมิร์ซไม่น้อยกว่า 6.5 หมื่นราย ใช้งบดำเนินการ 1,130 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อมูลคาทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

3.ส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นไม่น้อยกว่า 3,000 กิจการ จะทำให้สามารถสร้างและขยายโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,000กิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท และ4.พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ได้รับการชดเชยดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 2.6หมื่นราย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559