จ่อแก้เกณฑ์บ้านธนารักษ์ประชารัฐ ยึดแนวรัฐสวัสดิการ-เลิกบ้านหลังแรก

19 กันยายน 2559
คลังจ่อแก้เกณฑ์บ้านประชารัฐธนารักษ์ เลิกเกณฑ์ "บ้านหลังแรก" ใช้เกณฑ์ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยแทน หลังพบยอดคำขอโครงการที่เชียงใหม่ เพชรบุรี ผ่านคุณสมบัติไม่ถึง 20% ด้าน "ออมสิน" หวังคลังผ่อนเกณฑ์หนี้ต่อรายได้ "DTI" ลงจาก 70% ช่วยคนเป็นเจ้าของบ้านง่ายขึ้น ระบุหากไม่ปรับแก้เกณฑ์ หวั่นระยะยาวกระทบความเชื่อมั่นดีเวลอปเปอร์เหตุอุ้มต้นทุน-บ้านขายไม่ออก

โครงการธนารักษ์ประชารัฐ หลังเปิดจองโครงการแรกใน 4 ทำเล ได้รับความสนใจจากประชาชนโดยเข้าจองกว่า 2,300 ราย ซึ่งเกินจากพื้นที่มีจำนวน 1,442 ยูนิต แต่ในจำนวนนี้พบว่าผู้จองไม่ผ่านคุณสมบัติถึง 50% ซึ่งในเบื้องต้นกรมธนารักษ์ อาจพิจารณายกเลิกข้อกำหนดเรื่อง "บ้านหลังแรก"โดยจะปรับใช้เกณฑ์ของรัฐสวัสดิการ (ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย)แทน

ต่อเรื่องนี้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลการยื่นขอสิทธิ์ ตลอดจนปัญหาในการเข้าอยู่ภายใต้โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเก็บข้อมูลไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2559 เพื่อประเมินสถานการณ์ว่ามีประชาชนผู้สนใจเข้ารับสิทธิ์ในการเข้าอยู่มากน้อยเพียงใด ตลอดจนเพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงโครงการ

เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้นมีการรายงานว่า จำนวนยอดคำร้องที่ขอคัดเลือกเข้าอยู่ในโครงการที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนโครงการที่จังหวัดเพชรบุรี 2 โครงการมีจำนวนผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือกได้ไม่ถึง 20% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินหน้าโครงการในระยะที่ 2 ก็เป็นได้

ดังนั้นหากรวบรวมข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยทางกรมธนารักษ์จะนำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอไปยังนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่ออีกครั้ง ในขั้นตอนต่อไปอาจมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สอดคล้องกับนางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเสริมว่า แนวคิดเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้ขอรับสิทธิ์โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐที่ จากเดิมใช้เกณฑ์ว่าต้องเป็น "บ้านหลังแรก " แต่เนื่องจาก กรมกำหนดเงื่อนไขกว้างเกินไป ดังนั้นจึงต้องเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติม กล่าวคือต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาทและไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองมาก่อน เหตุผลคือ เพื่อป้องกันคนรวยหรือผู้มีรายได้สูงที่ไม่เคยมีบ้านหลักแรกมาขอใช้สิทธิ์

และเพื่อเป็นการเปิดช่องให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีบ้านอยู่อาศัยแล้วแต่บ้านที่อยู่ปัจจุบันไม่ดีเทียบเท่าบ้านหลังใหม่และต้องการยกระดับที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น เพื่อจองโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐก็สามารถใช้สิทธิ์ได้และการนำเกณฑ์ทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมาใช้คือมีรายได้ต่อปี ไม่เกิน 9 หมื่น-1 แสนบาท

ทั้งนี้สำหรับโครงการระยะ 2 จะกำหนดจำนวนหน่วยขั้นต่ำ 2,000 หน่วย ประกอบด้วย โครงการธนารักษ์ประชารัฐ เชียงใหม่ สุราษฏร์ธานี ลำลูกกา ปทุมธานี และช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ถึงกรณีที่จะมีการปรับเกณฑ์การเข้าจองสิทธิ์บ้านประชารัฐ ครอบคลุมถึงโครงการ บ้านธนารักษ์ประชารัฐ เนื่องจากปัจจุบันมีการยื่นขอรับสิทธิ์จากประชาชนผู้สนใจที่อยู่ต่างจังหวัด แต่กลับติดปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติของของจองสิทธิ์ คือ ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด เคยมีบ้านมาก่อนแล้ว ทำให้ไม่คุณสมบัติของบุคคลเหล่านั้นไม่ผ่านการประเมินให้รับสิทธิ์

ทั้งนี้หากสามารถอ้างอิงรายชื่อจากผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์รัฐสวัสดิการ (ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย) ที่ได้มาลงขอรับสิทธิ์ในการเช่าสิทธิ์ระยะยาวสำหรับบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ตลอดจนผู้ขอรับสิทธิ์ซื้อบ้านประชารัฐได้ ก็น่าจะช่วยทำให้ยอดผู้ที่ผ่านเกณฑ์ของคุณสมบัติมีมากขึ้น เนื่องจากจะมีการคัดกรอองคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริง โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1แสนบาทต่อปี และยังครอบคลุมว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2 หมื่นบาทอย่างแน่นอน ถือเป็นการยืนยันสิทธิ์แล้วว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติและน่าจะได้รับสิทธิการดูแลในเรื่องที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่พบว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาได้รับสินเชื่อทั้ง 2 โครงการ ไม่ใช่เพียงแค่จะติดปัญหาเรื่องเคยมีบ้านมาก่อนแล้ว อีกข้อที่ค่อนข้างกังวล คือ ยังติดเกณฑ์ของหนี้สินต่อรายได้ หรือ DTI (Debt to Income) ที่สูงถึง 70% หากผ่อนเกณฑ์ให้ DTI ต่ำกว่านี้อีกก็น่าจะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับทั้ง 2 โครงการนี้ได้มากขึ้น
สิ่งที่ภาครัฐจะต้องประเมินคือ ปัจจุบันผู้ขอยื่นกู้มีปัญหาสัดส่วนภาระหนี้สินสูงขึ้นขณะที่ราย ได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เพราะมีหนี้ในระบบสูงต่อรายถึง 70% ทำให้อนาคตการยื่นขอรับสินเชื่อที่เกี่ยวกับสินเชื่อบุคคลน่าจะทำให้ยากมากขึ้น สะท้อนได้จากโครงการนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้จากผ่อนค่างวดรถยนต์ ซึ่งไม่รวมไปถึงหนี้นอกระบบ จึงเชื่อว่าหนี้รวมกันต่อรายแน่นอนว่าจะสูง แต่จะสูงแค่ไหนยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากขั้นตอนการสอนถามนั้นผู้ขอยื่นกู้ไม่ได้บอกรายละเอียดทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ว่ามูลหนี้ที่เกิดทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มสูงขึ้นแค่ไหน นี่คือข้อกังวลที่สถาบันการเงินหรือธนาคารไม่สบายใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยเหล่านี้

ทั้งนี้หากภาครัฐไม่ผ่อนเกณฑ์โดยเฉพาะโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ในเรื่องการให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรก ขณะที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองบ้านเพียงระยะเวลาที่ 30 ปี แต่ไม่มีสิทธิ์บนที่ดินแล้ว แน่นอนอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักพัฒนาในโครงการระยะต่อไปที่จะส่งเสริมให้เข้ามาสร้างบ้านและขาย เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อติดเกณฑ์บ้านหลังแรกทำให้คนที่มีสิทธิ์โครงการบ้านในต่างจังหวัดจะลดลง แม้ราคาบ้านเมื่อเทียบกับบ้านโครงการปกติจะราคาถูกกว่าก็จริง แต่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินเนื่องจากเป็นที่ราชพัสดุ

ดังนั้นนักพัฒนาเมื่อขายบ้านไม่ได้ก็จำเป็นที่จะต้องอุ้มความเสี่ยงของโครงการเอาไว้ ซึ่งทางกระทรวงการคลังทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมถึงกรมธนารักษ์ก็ได้ขอข้อมูลกับธนาคารออมสินเพื่อประเมินโครงการแล้วว่า เห็นควรที่จะผ่อนคลายเกณฑ์ด้านใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เชื่อว่าภายในเดือนกันยายน 2559 น่าจะมีความชัดเจนว่าจะปรับข้อใดเพื่อให้โครงการมีผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559