เส้นทางวิบากสายข้าว ของ ‘เสี่ยเปี๋ยง-สยามอินดิก้า’

19 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เผยว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด บริษัท ศิราลัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาต จันทร์สกุลพร ทั้งเงินฝาก-ที่ดิน 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท

[caption id="attachment_98211" align="aligncenter" width="700"] คำสั่งทางคดีและการยึดอายัดทรัพย์ "อภิชาติ จันทร์สกุลพร" คำสั่งทางคดีและการยึดอายัดทรัพย์ "อภิชาติ จันทร์สกุลพร"[/caption]

หลังจากที่สำนักงานปปง.ตรวจสอบเส้นทางและธุรกรรมการเงิน พบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาโดยการกระทำผิด ในคดีที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก รวม 21 คน เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากโครงการระบายข้าวจีทูจีเก๊ ที่อยู่ในชั้นไต่สวนพยาน

คดีนี้มีการฟ้องจำเลย 3 กลุ่ม คือ 1.นักการเมือง 3 คน 2.ข้าราชการพลเรือน 3 คน 3.กลุ่มบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนใหญ่เป็นเครือข่าย"อภิชาติ จันทร์สกุลพร" และต่อมาอัยการยื่นฟ้องกลุ่มโรงสีฐานผู้สนับสนุน เป็นจำเลยเพิ่มอีก 7 ราย รวมคดีนี้มีจำเลข 28 ราย

[caption id="attachment_98210" align="aligncenter" width="500"] อภิชาต จันทร์สกุลพร อภิชาต จันทร์สกุลพร[/caption]

ในการเรียกชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากกลุ่มเอกชนหรือบุคคลธรรมดา 5 หน่วยงานรัฐร้องศาลฎีกาฯ ขอให้สั่งร่วมกันชดใช้ 2.6 หมื่นล้านบาท และเตรียมออกคำสั่งทางปกครองให้อดีตรัฐมนตรีและอดีตข้าราชการ รวม 6 คนร่วมชดใช้ 2 หมื่นล้านบาท

เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปปง.ตรวจสอบเส้นทางเงินและธุรกรรมแล้วพบว่า เป็นทรัพย์จากการกระทำผิดดังกล่าว จึงสั่งยึดอายัด 7 พันล้านบาทนี้ไว้ก่อนดังกล่าว

แต่เส้นทางวิบากของ"เสี่ยเปี๋ยง"อภิชาติ จันทร์สกุลพร หาได้จบแค่นี้ไม่

เพราะเสี่ยเปี๋ยงและเครือข่าย ทั้งในนามบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หรือบริษัท ศิราลัย จำกัด ที่ภายหลังเปลี่ยนเป็น"กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด" และเครือข่ายบริวารในนามตัวบุคคลต่างๆ ยังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ล็อต 2 ที่เวลานี้อยู่ในชั้นไต่สวนของอนุฯไต่สวนข้อเท็จจริง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อีกคดี

กรณีมีเหตุอันควรสงสัย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ และนางปราณี ศิริพันธ์ ครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เห็นชอบการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี กับบริษัทที่อ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจีน 4 แห่ง ทั้งที่ปกติแล้วการซื้อข้าวจีทูจีทางจีนจะซื้อขายผ่าน COFCO หน่วยงานเดียว

จากการตรวจสอบพบลักษณะการดำเนินการคล้ายคลึงโครงการระบายข้าวจีทูจี ล็อตแรก คือ ไม่มีการเปิดแอล/ซี มาจากจีน แหล่งเงินที่ใช้ซื้อมาจากในประเทศ ไม่มีการขนข้าวออกไปจีน แต่ถูกนำไปเวียนขายในตลาดฟันส่วนต่างมโหฬาร เพราะได้ข้าวมาในต้นทุนถูกกว่าคู่แข่งมหาศาล

อนุฯไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช.จึงสั่งอายัดแคชเชียร์เช็ค 46 ฉบับ วงเงิน 1.878 พันล้านบาท ที่สั่งจ่ายในการชำระค่าซื้อข้าวไว้ก่อน โดยในจำนวนนี้มี 40 ฉบับ วงเงิน 1.868 พันล้านบาท มาจากเงินในบัญชีของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด บริษัท ศิราลัย จำกัด และนายสุธี เชื่อมไธสง คนใกล้ชิด "เสี่ยเปี๋ยง"

และป.ป.ช.ยังสั่งไต่สวนเพิ่มเติมผู้เกี่ยวข้องคดีนี้อีก 33 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย คือ 4 วิสาหกิจจีน รวมถึงผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจช่วง รวม 18 ราย กลุ่มที่ 2 บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระเงินครั้งนี้ 15 ราย ซึ่งก็คือเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง

เป็นคดีความที่รอลุ้นผลการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

แต่เวลานี้มีคดีที่เสี่ยเปี๋ยงโดนไปก่อนหน้าแล้ว คือคดีที่อัยการคดีศาลแขวงสมุทรปราการ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จากที่กรมการค้าต่างประเทศร้องทุกข์ ข้าวในโครงการขายให้อิหร่านหาย

ตุลาคม 2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกนายอภิชาติ 6 ปีไม่รอลงอาญา ปรับ 1.2 หมื่นบาท และคืนข้าวที่ยักยอก รวม 2.1 หมื่นตัน หรือชดใช้เป็นเงิน 229.87 ล้านบาท เวลานี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ

เป็น"อภิชาติ จันทร์สกุลพร" หรือเสี่ยเปี๋ยง เจ้าของและผู้บริหาร บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ คว้าประมูลข้าวโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนทะยานเป็นพ่อค้าข้าวเบอร์หนึ่งเมืองไทย สถานการณ์เปลี่ยน "เสี่ยเปี๋ยง"กบดานเงียบ ตั้งบริษัทใหม่สยามอินดิก้า และอื่น ๆ แต่ไม่พ้นถูกตรวจสอบ และกำลังเดินบนเส้นทางวิบากในวันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559