อยู่อย่างเข้าใจ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ เพื่อนบ้านส่วนเติมเต็มความสุขสำหรับการอยู่อาศัย Living Space By คุณาลัย

18 กันยายน 2559
ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านทั้งปัญหาในด้านนิสัยใจคอที่เข้ากันไม่ได้ปัญหาเพื่อนบ้านต่างวัยต่างไลฟ์สไตล์ที่อีกฝ่ายยอมรับไม่ได้ไปจนถึงปัญหาสารพันด้านล้ำเขตรั้วของกันและกันซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาก็จะถูกคลี่คลายไปด้วยการทำความเข้าใจและตกลงกันแต่ก็มีไม่น้อยเลยที่ปัญหานั้นลุกลามใหญ่โตไปขึ้นโรงขึ้นศาล

[caption id="attachment_98694" align="aligncenter" width="500"] Living Space By คุณาลัย Living Space By คุณาลัย[/caption]

มีหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งชื่อ "Emily Post's Etiquette ' Manners for a new world'" ซึ่งเขียนโดยสมาชิกครอบครัว Post เป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันหนังสือเล่มนี้มีอายุยาวนานและผ่านการเรียบเรียงปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยเข้ากับสังคม ณ เวลานั้นๆ เรื่อยมา(ปัจจุบันเป็นการเรียบเรียงใหม่ครั้งที่ 18) สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในระดับนานาชาติก็เพราะมีความเป็นสากลนิยมคือผู้อ่านสามารถปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้ง่ายแม้ผู้เขียนจะเป็นชาวอเมริกันก็ตาม

โดยหนังสือเล่มดังกล่าวได้ให้แนวทางและหลักพื้นฐานของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. ทักทายเพื่อนบ้านทุกครั้งที่มีโอกาสเมื่อได้พบเจอกันไม่ว่าจะเป็นบนถนนหน้าประตูบ้านหรือที่ตลาดการทักทายอย่างสุภาพเล็กๆน้อยๆหรือแค่เพียงสบตาส่งยิ้มให้กันที่ร้านเซเว่นหน้าหมู่บ้านก็นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและเป็นประตูสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและหากเป็นไปได้ผู้ใหญ่ก็ควรจะสอนลูกหลานให้รู้จักสวัสดีทักทายผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยแนะนำให้เด็กรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นคุณน้าที่อยู่บ้านข้างบ้านเราจะทำให้เพิ่มความสนิทสนมมากขึ้นในโอกาสต่อๆ ไปได้

[caption id="attachment_98695" align="aligncenter" width="500"] Living Space By คุณาลัย Living Space By คุณาลัย[/caption]

2. หาโอกาสพูดคุยเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนบ้านบ้างหมายถึงการใช้เวลาพูดคุยที่มีระยะเวลายาวขึ้นเช่น พูดถึงกิจกรรมหมู่บ้านที่จะเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นการสนทนาที่จะพาไปสู่การทำความรู้จักและความเข้าใจในทัศนคติของเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น 3. ต้องระมัดระวังเรื่องเวลาที่ใช้สนทนาทุกๆคนล้วนมีตารางเวลาของตนเองที่อาจจะไม่ได้ว่างตรงกับเราเรื่องที่คุยกันก็ต้องดูท่าทีอีกฝ่ายด้วยว่าพร้อมจะคุยนานๆไหมในเรื่องนี้คนไทยนั้นมักมีนิสัยขี้เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธแต่ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีความเข้าใจว่าตารางเวลาของเราแตกต่างกันนั้นจะทำให้เราระมัดระวังขึ้นและในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักหยุดการสนทนาเมื่อทราบว่าเพื่อนบ้านกำลังรีบด้วย

4. ไม่ถือวิสาสะในการเข้าไปหาเพื่อนบ้านโดยไม่บอกก่อนควรมีการโทรศัพท์หรือสื่อสารแจ้งเพื่อนบ้านก่อนทุกครั้งที่จะมีการเข้าไปพบบางทีการพรวดพราดเข้าไปโดยไม่บอกก่อนโดยอีกฝ่ายไม่พร้อมนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี 5. อย่าไปหาเพื่อนบ้านบ่อยจนเกินไปแม้จะเห็นว่าอีกฝ่ายอยู่บ้านเฉยๆก็ตาม 6. อย่าถือสนิทและใช้งานเพื่อนบ้านเช่นเพื่อนบ้านเป็นทนายความก็ไม่ควรเอาเรื่องปัญหาคดีความของเราไปปรึกษาแบบใช้เวลาจริงๆจังๆหากต้องการคำปรึกษาจริงๆน่าจะขอไปพบเจอกันที่บริษัทเลยจะดีกว่า

7. รู้จัก "ขอบคุณ" และ "ขอโทษ" ทุกครั้งเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันมานานจนสนิทสนมกันกลายเป็นคนใกล้ตัวคำขอบคุณที่มาจากใจจริงย่อมทำให้ความสัมพันธ์นั้นมีความแน่นแฟ้นขึ้นในขณะที่ความใกล้กันอาจมีความผิดพลาดต่างๆ เกิดขึ้นได้การกล่าวคำขอโทษและการตั้งใจปรับปรุงแก้ไขย่อมเป็นการแสดงถึงมิตรภาพที่ดีต่อกันในระยะยาวด้วย 8. เคารพในสิทธิและความเป็นส่วนตัวหลักการข้อนี้ง่ายๆ คือความเข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์ทุกคนว่าไม่มีใครเหมือนกันการไม่ก้าวล้ำเข้าไปในไลฟ์สไตล์หรือความชอบของอีกฝ่ายนั้นน่าจะดีกว่าการไปวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของคนอื่น

9. เข้าใจถึงขอบเขตและไม่ล่วงล้ำพื้นที่บ้านคนอื่นหากบ้านคือทรัพย์สินรั้วย่อมหมายถึงอาณาเขตของทรัพย์สินการต่อเติมใดๆก็ต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบ เช่น การวางแผนเรื่องต้นไม้ที่ปลูกในบ้านควรค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของต้นไม้ที่จะนำมาปลูกในพื้นที่บ้านของเรา หลังจากย้ายเข้าบ้านใหม่แล้วหลักพื้นฐาน 9 ข้อนี้หากเราใส่ใจและคอยตระหนักถึงอยู่บ่อยๆก็จะเป็นการป้องกันปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน

[caption id="attachment_98696" align="aligncenter" width="500"] Living Space By คุณาลัย Living Space By คุณาลัย[/caption]

มีคำพูดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากเป็นคำพูดเกี่ยวกับมิตรภาพของเจ้าแมวโดราเอมอนพูดกับโนบิตะเพื่อนรักว่า "ความเป็นเพื่อนของเราไม่ใช่เรื่องบัญเอิญนะบางทีมันก็ถูกกำหนดเอาไว้แล้วจริงๆ" คำว่า “เพื่อนบ้าน” นั้นก็คือ “เพื่อน” ที่ “อยู่ข้างบ้าน” เป็นเพื่อนที่เราต้องพบแทบทุกวันผิดกับเพื่อนสนิทบางคนของเราที่เราอาจได้พบกันนานๆครั้งด้วยซ้ำหากเราลองคิดใหม่ทำใจร่มๆแล้วเชื่อว่าความเป็นเพื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญเราอาจถูกกำหนดมาไว้แล้วให้มี “เพื่อนบ้าน” คนนี้เราก็น่าจะลองให้ความใส่ใจกับเพื่อนข้างบ้านเหมือนเป็นเพื่อนของเราโดยยึดหลักปฏิบัติที่ดีต่อกันเชื่อว่าต้องเป็นการเพิ่มเติมความสุขให้ในชีวิตในบ้านอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559