สุรไกร ไพรสานฑ์กุล : เจน 3‘ไทยซินฯ’ชูความเร็วตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

16 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
ชื่อของไทยซินอุตสาหกรรม หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่หากเอ่ยถึงแบรนด์ไทเกอร์,คาโอ,เวลสตาร์คอสเมติก หลายคนจะร้องอ๋อ

แน่นอนว่าไทยซิน เป็นบริษัทเทรดดิ้งแถวหน้าของเมืองไทยที่มีอายุกว่า 65 ปี เป็นผู้นำเข้าและบุกเบิกแบรนด์ชั้นนำทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรปมากมาย และล่าสุดมีการขยับตัวครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของทายาทเจเนอเรชัน 3 และ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยแบบกันเอง

"สุรไกร ไพรสานฑ์กุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซินอุตสาหกรรม จำกัด ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ไฟแรงด้วยวัยเพียง 32 ปี กับการรับบทบาทเป็นทัพหน้าที่จะขับเคลื่อนไทยซิน สลัดภาพธุรกิจครอบครัวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

"สุรไกร" เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจของไทยซินถูกก่อตั้งขึ้นโดยคุณปู่ที่เป็นชาวไต้หวัน และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยเมื่อกว่า 65 ปีที่ผ่านมา กับธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ คาโอ,คาเนโบ้ และไทเกอร์ เป็นต้น เนื่องจากในยุคนั้นญี่ปุ่นและไต้หวันมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงได้เห็นช่องทางการนำเข้าและสร้างตลาดในประเทศไทย และมีการต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองในรุ่นที่ 2 (รุ่นคุณพ่อ) ทั้งแบรนด์ นิกโก้,ไบโอเน็ต และเวลสตาร์คอสเมติก พร้อมกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์แฟชั่นชั้นนำจากยุโรปก่อนจะหมดสัญญาไป

การถูกมอบหมายให้นั่งบริหาร "สุรไกร" มองว่าเป็นความท้าทาย และสิ่งที่ยากสำหรับเขาคือ ความน่าเชื่อถือ ที่ต้องใช้ทั้ง "เวลา" และ "จิตวิทยา" เป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานเพื่อให้บุคลากรรุ่นเก่ายุคบุกเบิกเปิดใจยอมรับให้ได้ หลังจากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการบริหารจัดการ วางระบบเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น โดยมีนักการตลาดแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง "ตัน ภาสกรนที" และ "ต็อบ เถ้าแก่น้อย" เป็นนักการตลาดต้นแบบในดวงใจ

[caption id="attachment_98050" align="aligncenter" width="500"] COOLKNOT COOLKNOT[/caption]

การทำตลาดตามแบบฉบับของ "สุรไกร" นั้น เจ้าตัวเผยว่า ความ "เร็ว" คือสิ่งสำคัญในการทำตลาดยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคมีช่องทางในการสื่อสาร ติดตามข้อมูลที่รวดเร็วและอัพเดตตลอดเวลา อีกทั้งสภาพตลาดยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องเร็วตามความต้องการ ต้องมีการมองเทรนด์ล่วงหน้าว่าสินค้าประเภทไหนจะขายดีและมาแรง และตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการ ยกตัวอย่างสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งบริษัทจะต้องมีการปรับเปลี่ยน นำเข้า และหาอะไรใหม่ๆมารองรับตลาดตลอดเวลา ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุปโภคอย่างกระติกน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เน้นการใช้งานเป็นหลัก มองว่าเปลี่ยนคอลเลกชันใหม่ปีละครั้งก็เพียงพอกับความต้องการแล้ว ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า อีกเช่นกัน

เช่นไตรมาส 4 นี้ บริษัทจะโฟกัสการทำตลาดไปที่แบรนด์ไทเกอร์ หลังจากที่ผ่านมาสินค้าที่สามารถทำตลาด กระติกน้ำแบบพกพา (Tumbler) และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเติบโต 10% ต่อปี ในปีนี้ได้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มใหม่เพิ่มเติมเพื่อเป็นการขยายตลาดให้มากขึ้น ส่วนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะสรรหานวัตกรรมมานำเสนอในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีวางจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก เช่น หม้อหุงข้าวดิจิตอล , หม้อหุงข้าว รุ่นหม้อดินเซรามิก JKL ทำจากเหล็ก ฯลฯ

"สุรไกร" บอกว่า การรับไม้ต่อในรุ่น 3 เขาเลือกที่จะปรับระบบการบริหารจัดการเพื่อให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของทีมงาน บุคลากร และการนำระบบไอทีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อรองรับการเติบโตในทุกกลุ่มสินค้า และสิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพการเติบโตของบริษัทด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและแนวคิดใหม่เข้ามาเสริมทัพ ขณะที่บุคลากรดั้งเดิมที่เติบโต ต่อสู้กันมา ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ไทยซิน เติบโตและแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559