SMEไซซ์เล็กสต๊อกรับปลายปีดันยอดเบิกใช้สินเชื่อหมุนเวียนกระเตื้อง/ยันตลาดเป็นของผู้กู้

14 ก.ย. 2559 | 08:30 น.
แบงก์ประเมินความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีรายเล็กยังพุ่ง ด้าน “ธนชาต” ชี้ เห็นสัญญาณแห่ใช้วงเงินหมุนเวียนเพิ่มสต๊อกสินค้ารับเทศกาลใช้จ่ายปลายปี ดันยอดเบิกใช้แตะ 50-55% จากช่วงปกติอยู่ที่ 30-40% ส่วน “กรุงไทย” เชื่อธุรกิจซื้อมาขายไปยังรุ่ง เตรียมงัดแพ็กเกจซัพพลายเชนโซลูชันโกยลูกค้า - คู่ค้าเข้าพอร์ตลดเสี่ยง ฟาก “กสิกรไทย” มั่นใจโค้งท้ายฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มทยอยใช้สินเชื่อ /ยันตลาดเป็นของผู้กู้

นายรุ่งโรจน์ ธรรมตั้งมั่น รองผู้อำนวยการ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจรายย่อย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ว่ากลุ่มเอสเอ็มอีในช่วงต้นปีจะมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจ จนทำให้ดูเหมือนไม่เติบโตมากนัก มีการระมัดระวังการเบิกใช้สินเชื่อไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อระยะยาว และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน จนทำให้การเบิกใช้สินเชื่อไม่ได้มีอัตราการขยายตัวมากนัก แต่ในช่วงปลายปี คาดว่าการขยายตัวของธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัว และคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น โดยมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การบริโภคสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงปลายปี การใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งการเบิกจ่ายตามงบประมาณการก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ เริ่มเห็นลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (SSME) ที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทกลับมาใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนพอสมควรสำหรับการสั่งซื้อสินค้า หรือสต๊อกสินค้า เนื่องจากลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุน จึงใช้สินเชื่อหมุนเวียนเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาสัดส่วนการใช้วงเงินหมุนเวียนจะอยู่ที่ 55-60% และวงเงินลงทุนระยะยาวจะอยู่ที่ประมาณ 35-40% คาดว่าการใช้จ่ายที่กลับมาคึกคักในช่วงปลายปี จะเพิ่มสัดส่วนใช้วงเงินหมุนเวียนเป็น 70% ขณะที่การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจะขยับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40% คาดว่าในช่วงปลายปีจะเห็นการเบิกใช้วงเงินขยับสูงขึ้นเป็น 50-55% แม้ว่าสัดส่วนจะไม่มากนัก แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนกลยุทธ์ของธนาคารจะเน้นรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ โดยจะใช้พนักงานสาขาที่มีอยู่กว่า 600 แห่ง เป็นจุดขาย เนื่องจากลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยจะกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น การจะเข้าถึงลูกค้าต้องให้พนักงานนำเสนอโปรแกรมให้ลูกค้าเหล่านี้ เนื่องจากลูกค้ารายย่อยจะใช้บริการกับธนาคารเพียง 1-2 แห่ง ธนาคารจึงต้องเข้าถึงลูกค้าให้ได้ก่อนธนาคารแห่งอื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาขาจะมีความคุ้นเคยและรู้จักคนในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสที่จะดึงลูกค้ามาใช้บริการได้ ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากว่า 1 หมื่นราย ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปียอดสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะมีลูกค้าที่ผ่อนชำระคืน และเป็นวงเงินหมุนเวียนระยะสั้น โดยยอดการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 50% ทรงตัวในระดับเดิม

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อถือว่าลูกค้ารายย่อยเป็นพอร์ตค่อนข้างดี มีวินัยการชำระหนี้ค่อนข้างดีพอสมควร แม้ว่าบางส่วนอาจลืมผ่อนชำระ แต่สถานะหนี้ยังคงเป็นปกติ โดยปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่กว่า 1% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารมีทีมงานที่ติดตามหนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ทำให้การเรียกเก็บหนี้เข้ามาได้พอสมควร รวมถึงธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าก่อนที่จะมีปัญหา ซึ่งช่วยลดการเกิดเอ็นพีแอลใหม่ โดยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับกระแสเงินสด และโครงสร้างรายรับของลูกค้า

“ช่วงปลายปีน่าจะเห็นสถานการณ์ธุรกิจรายย่อยดีขึ้น โดยเฉพาะเซ็กเตอร์การท่องเที่ยว บริการ และค้าปลีกค้าส่ง ร้านวัสดุก่อสร้างหลังเม็ดเงินภาครัฐกระจายลงสู่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ทำให้ลูกค้าต้องการวงเงินหมุนเวียนสต๊อกสินค้าเพิ่ม และเริ่มเห็นการเบิกใช้วงเงินเพิ่มขึ้น แม้ว่าการลงทุนใหม่อาจจะไม่ชัดเจน เพราะเอสเอ็มอีรายเล็กไม่กล้าใช้เงิน กลัวการเป็นหนี้ แต่มีวินัยชำระหนี้ค่อนข้างดี”

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ยังคงมีความต้องการสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งปีนี้ธนาคารพยายามจะเน้นลูกค้ากลุ่มการค้าและการซื้อขาย (Trade) เพราะเป็นกลุ่มที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี ประกอบกับธนาคารจะมุ่งเน้นการต่อยอดลูกค้าจากคู่ค้า (Supply Chain Solution) ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงการให้วงเงินสินเชื่อ แต่ยังรวมบริการธุรกรรมการเงินแบบครบวงจร โดยจะมีแพ็กเกจให้ลูกค้า

อย่างไรก็ดี การหาลูกค้าเป็นกลุ่มซัพพลายเชน อาจจะต้องพิจารณาเป็นกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี เช่น ซื้อมาขายไป เป็นต้น และประเภทกลุ่มธุรกิจที่ต้องพึงระวัง โดยธนาคารจะมีทีมศึกษาข้อมูลไว้ประกอบในการพิจารณา แต่ทั้งนี้ การมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าและคู่ค้า จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารและลูกค้าได้ดีขึ้น

“ช่วงที่เหลือยังมองว่าลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ยังมีความต้องการวงเงินสินเชื่อ เพราะธุรกิจบางอย่างยังสามารถไปได้ดี เช่น ค้าขาย ซื้อมาขายไป กลุ่มนี้ยังดีอยู่ ซึ่งตรงกับธนาคารที่จะพยายามเน้นและโปรโมตเรื่องเทรดมากขึ้น โดยจะทำแพ็กเกจเสนอทั้งลูกค้าและคู่ค้าให้เพิ่มขึ้น”

ส่วนด้าน นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอี ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ยอดสินเชื่อขยายตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งครึ่งปีแรกธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2% คาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ตามเป้าที่ระดับ 5-7% จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 6.28 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินเชื่อใหม่ของกลุ่มเอสเอ็มอียังขยายตัวไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความต้องการของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ จะเห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวสูงถึง 9% จากเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ระดับ 4-6% จากยอดสินเชื่อคงค้างต้นปีอยู่ที่ 4.68 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 5.12 แสนล้านบาท ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น ในช่วงที่เหลือธนาคารจะพยายามรักษาอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อคงค้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ารายใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวคืนชำระเงินกู้ และรับชำระจากคู่ค้า ซึ่งจะช่วยให้ยอดสินเชื่อคงค้างธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงได้

ขณะที่แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลจะอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในอัตราส่วนที่ลดลง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีก่อนจะเป็นเอ็นพีแอลของธนาคาร มีอัตราลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 ที่มียอดการช่วยเหลือจำนวน 1.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่ปัจจุบันในไตรมาสที่ 2 ยอดช่วยเหลือคงค้างลดลงเหลือเพียง 2.4 หมื่นล้านบาท จากปลายปี 2558 อยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่าสถานการณ์ของลูกค้าเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งในแง่ผ่อนชำระหนี้ และสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ทิศทางเอ็นพีแอลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ที่ระดับ 4% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ต่ำกว่า 2% อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นมีประมาณ 108อุตสาหกรรม จาก 4,000 อุตสาหกรรมเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก สินค้าโภคภัณฑ์สินค้าเกษตร และอัญมณี-จิวเวลรี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตรวจสอบเอกสารค่อนข้างยากเพราะราคานำเข้าและส่งออกอาจจะไม่ตรงตามที่ลูกค้าแจ้งไว้ จึงเป็นกลุ่มที่ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559