เช็กบิลหมื่นตึกเสี่ยงกทม. 4,000 อาคารผิดก.ม.เลี่ยงตรวจสอบ

09 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
กรมโยธาฯรื้อใหญ่กฎกระทรวงตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท หลังมท.1 สั่งเช็กบิลเกือบหมื่นตึกเสี่ยงทั่วไทยเบี้ยวจ้างผู้ตรวจสอบอาคารนาน 9 ปี ตะลึงกทม. พบ 4,000 อาคาร เริ่มทยอยแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ต่างจังหวัดอีกร่วม 5,000 อาคารละเลย ภูเก็ตโรงแรมพันแห่งเลี่ยงอีไอเอ เผยโทษเบาหวิวปรับ 6 หมื่นบาท จำคุก 3 เดือน ชี้ต่อไปรัฐจัดหาบริษัท-เจ้าหน้าที่ลุยตรวจเอง จ่อเพิ่มบ้านพักคนชรา โรงพยาบาล โรงเรียนกวดวิชา

จากโศกนาฏกรรมภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซากทั้งแผ่นดินไหว อัคคีภัย ทั่วประเทศโดยเฉพาะ เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อย่างเชียงราย และเมืองชายทะเลฝั่งอันดามัน ส่งผลทำให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องออกกฎกระทรวง ให้เจ้าของอาคารจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ในแต่ละปี พร้อมทั้งเสริมความมั่นคงแข็งแรงหากพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ตึกถล่มซ้ำซากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตามมา

 รื้อกฎกระทรวงคุมอาคาร9ประเภท

ต่อเรื่องนี้ นายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กรมโยธาธิการเตรียมแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 และเริ่มมีผลบังคับใช้ให้ตรวจสอบอาคารที่กำหนด 9 ประเภทตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป ตามความในมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร(ฉบับที่3) พ.ศ. 2543 บัญญัติให้เจ้าของอาคาร9ประเภทต้อง จัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร และรายงานต่อต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ปี 2550 ดังกล่าว ซึ่งอาคารที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบเป็นประจำในแต่ละปีประกอบด้วย 1.อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3.ป้าย 4.โรงมหรสพ 5.โรงแรม 6.โรงงาน7. อาคารชุมชุนคน 8.สถานบริการ และ 9.อาคารอยู่อาศัยรวม

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าของอาคาร 9ประเภทดังกล่าวที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ มักว่าจ้างบริษัทรับตรวจสอบอาคารหรือ วิศวกรที่เข้าข้างหรือรับรองอาคารของตนเอง หากรายใด ตรวจสอบแล้วแจ้งว่าอาคารมีข้อบกพร่องต้องแก้ไข เจ้าของอาคารดังกล่าวในฐานะผู้ว่าจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างและเปลี่ยนแปลงบริษัทตรวจสอบใหม่จนกว่าจะเซ็นรับรอง ดังนั้น จึงต้องปิดช่องโหว่ ด้วยการแก้ไขกฎกระทรวงด้วยการให้กรมโยธาธิการฯ หรือท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดส่งบริษัทผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในแต่ละปี ลงพื้นที่ตรวจสอบเองโดยไม่ต้องผ่านเจ้าของอาคาร

 มท.1สั่งเช็กบิลอาคารเสี่ยง

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ เกิดเพลิงไหม้ โรงหนังเมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า เกิดเพลิงไหม้โรงเรียนกินนอน และแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกรมโยธาฯ กรุงเทพมหานครและ ท้องถิ่นทั่วประเทศ รายงานจำนวนอาคาร ที่อยู่ในข่ายอาคาร 9 ประเภทที่ต้องตรวจสอบ ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด และ มีการตรวจสอบกี่อาคาร ละเลยไม่ตรวจสอบกี่อาคารมายังกระทรวงมหาดไทย พร้อมสั่งท้องถิ่นให้ตรวจสอบว่า หากพื้นที่ใด พบว่า เจ้าของอาคารละเลยไม่จ้างบริษัทรับตรวจสอบอาคาร เข้ามาตรวจสอบอาคารในทุกปีหรือทุก 3 ปี 5 ปีตามประเภทอาคาร ให้ท้องถิ่นดังกล่าวดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

 ตะลึงกทม.4พันตึก/ตจว.5พันเสี่ยง

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากการรายงานของท้องถิ่นพบว่า อาคาร 9 ประเภท ที่อยู่ในเขตกทม. มีจำนวน กว่า 4,000 อาคารที่เจ้าของอาคารยังไม่เคยจ้างบริษัทเอกชนตรวจสอบอาคารเลย และ ต่างจังหวัดพบว่ามีจำนวนอาคาร 4,000-5,000 อาคาร ไม่มีการตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน นับจาก กฎกระทรวงบังคับใช้ ปี2548 และ ให้ตรวจสอบจริงปี 2550 ทั้งนี้โทษที่กำหนด คือ ปรับ 6 หมื่นบาท จำคุก 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และ สั่งปรับรายวันๆละ 1หมื่นบาทจนกว่าจะจ้างบริษัทมาตรวจสอบ

ต่อข้อถามที่ว่าโทษเบาเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ที่ผู้ประกอบการได้รับต่อวันหรือไม่ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่ากรณีปรับรายวันๆละ1หมื่นบาทมองว่า เจ้าของอาคารรับภาระไม่ไหวอย่างแน่นอนและจะทำให้ เจ้าของอาคารยอมที่จะจัดหาบริษัทมาตรวจสอบเองตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ มท.1 สั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและลำดับต่อไปจะมีการทบทวนกฎกระทรวงอาคาร9ประเภท ปี 2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

  ลูกบ้านร้องคอนโดฯละเลย

นอกจากนี้อาคารที่พบว่าหลบเลี่ยง จะเป็นโรงหนัง ที่ตัวอาคารติดถนนใหญ่ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบและท้องถิ่นเองก็ทราบดีถึงความเคลื่อนไหว แต่ไม่แน่ใจว่าปล่อยผ่านได้อย่างไร โดยเฉพาะ เมื่อเกิดเพลิงไหม้เมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า นอกจากนี้ยังมีคอนโดมิเนียมอีกจำนวนมากที่ ลูกบ้านร้องเรียนว่า นิติบุคคลไม่ตรวจสอบอาคาร โดยเฉพาะย่านชายกรุงเทพมหานคร แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นคอนโดมิเนียมแบรนด์ที่ไม่ดังมากนัก นอกจากนี้จะมีประเภทป้ายขนาดใหญ่ เป็นต้น ที่จ้างบริษัทตรวจสอบ ซึ่งมองว่าเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก

อย่างไรก็ดี จะแก้กฎกระทรวง เพื่อ แก้ปัญหา เจ้าของอาคารจัดหาบริษัทผู้ตรวจสอบ อาคารด้วยวิธีการ หาผู้รับจ้างเซ็นรับรอง ให้อาคารจากผิดเป็นถูก หรือ หาบริษัทใหม่จนกว่าจะรับรองว่าอาคารถูกต้อง

 เพิ่มประเภทอาคารคุมเข้ม

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากอาคาร 9 ประเภทแล้วล่าสุดเกิดเหตุเพลิงหม้ที่โรงเรียนกินนอน อำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย ทำให้กรม มีแนวคิดจะเพิ่มประเภท อาคารเสี่ยงเพิ่มเติม นอกจาก9ประเภทเดิม ประกอบด้วย 1.โรงเรียนกวดวิชา อยู่ในตึกแถวจำนวนมากทั่วประเทศ ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสุงและนับวันยิ่งเพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้นโดยเฉพาะตึกแถวเก่าแก่ 2.โรงพยาบาลอยู่ระหว่างกำหนดจำนวนเตียง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ 3.สถาบันศึกษาทุกประเภท รวมถึงโรงเรียนกินนอน4.บ้านพักคนชราเป็นต้น

 เล็งบังคับบ้านรับแผ่นดินไหว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมยังมีจะพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ปี 2550 ทั้งนี้เกิดจาก จังหวัดเชียงรายเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และเกิดซ้ำขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งเมียนมาล่าสุด ส่งผลให้กรม มีแนวคิดเพิ่มเดิมว่าจะบังคับไปถึงบ้านเรือนเอกชนให้ต้องเพิ่มต้นทุนรับแรงแผ่นดินไหวด้วยหรือไม่จากปัจจุบันบังคับเฉพาะสถานที่ราชการ และอาคารสูง-ใหญ่อาคารชุมนุมคน ฯลฯ เพราะต้นทุนที่เพิ่มไม่เกิน 10%

ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดเพิ่มขนาดความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากที่กำหนดไม่เกินขนาด 7 รวมถึง การเพิ่ม พื้นที่ เสี่ยงแผ่นดินไหวเพิ่ม ที่ต้องสร้างอาคารรับแรงแผ่นดินไหว คือพื้นที่ ตลอดแนวตะเข็บชายแดนติดกับเมียนมาทั้งหมด โดยเจาะเป็นรายตำบลอำเภอ อาทิ อำเภอสวนผึ้งจังหวัด ราชบุรี บ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และภาคใต้เป็นต้น

" คาดว่ากฎกระทรวงทุกฉบับจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมอาคารภายในเดือนตุลาคมนี้ ที่มีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พิจารณาเห็นชอบและเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยต่อไป รวมถึงอาจจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมอาคารใหม่ด้วย"

 ขอนแก่นพบ 2 ตึกร้างเสี่ยง

ขณะที่ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่น ได้ตรวจสอบอาคาร 9 ประเภททุกปีที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอาคารไม่ถึง100 อาคาร อย่างไรก็ดี พบว่ามี 2 อาคารร้าง ประเภท สถานบริการ โรงแรม ในท้องถิ่นและ บริษัทเงินทุนจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นอาคารสูง 1 อาคาร และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ 1 อาคาร ที่มีความเสี่ยง แต่ เทศบาลไม่นิ่งนอนใจ ทำหนังสือ ส่งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบทุกปี

  เชียงใหม่ครึ่งพันตรวจแค่ 73 ราย

นาย ธนเมศฐ์ มหาวงศสนันท์ วิศกรโยธาชำนาญการ โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบอาคาร 9 ประเภททั้งจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีจำนวน 534 อาคาร มีเพียง 73 อาคารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ส่วน อีก 461อาคาร ไม่มีการตรวจสอบ ทั้งนี้อาคารเฉพาะส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่ มีอาคารจำนวน 343 อาคาร เป็นอาคารสูง 35 อาคาร อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 28 อาคาร ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายขนาดใหญ่ ซึ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่ามีอาคารที่ตรวจสอบแล้ว เพียง 50 อาคารเท่านั้น จาก 343 อาคาร

อย่างไรก็ดีองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ทั้ง 203 แห่งยังไม่เข้าใจ กฎกระทรวงตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ส่วนใหญ่ท้องถิ่นยังไม่เข้าใจ ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร อาคารประเภทไหนบ้างที่เข้าข่ายตรวจสอบ บางพื้นที่ บังคับให้เจ้าของโกดังเก็บของ จัดหาบริษัทตรวจสอบอาคาร ทั้งที่โกดังไม่อยู่ในข่ายอาคาร9ประเภท เมื่อเจ้าของอาคารไม่จัดหาบริษัทตรวจสอบเจ้าหน้าที่ก็ใช้วิธีจัดหาบริษัทพรรคพวกตนเองตรวจสอบให้ ซึ่งกลับกลายเป็นการเปิดช่องหารายได้เข้ากระเป๋า

 1 พันโรงแรมภูเก็ตเลี่ยงอีไอเอ

นายอนันต์ ชูช่วย ชายช่างชำนาญการโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ ท้องถิ่นรายงานมายังสำนักงาน พบว่ามีอาคาร 9 ประเภททั่วทั้งเกาะเพียง 475 อาคาร เท่านั้น และในจำนวนนี้ ยอมรับว่า มีการว่าจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบมาตรวจสอบอาคาร น้อยมาก ทั้งนี้เกิดจากความไม่เข้าใจของท้องถิ่น และเอกชนเองที่สำคัญมีอาคารอีกจำนวนมาก กว่า 1,000 อาคาร ที่อยู่ในข่ายเลี่ยง อีไอเอหรือ หรือ เลี่ยงขออนุญาตสิ่งแวดล้อม ทำให้ ก่อสร้างเพียง 79 ห้อง ส่งผลให้ จำนวนหน่วยไม่ถึง80หน่วยทำให้ ไม่อยู่ใน อาคาร9ประเภท และ ไม่สามารถออกใบอนุญาตตรวจสอบความปลอดภัยอัคคีภัยได้

" ทั้งๆที่ จริงๆแล้ว ก็เปิดมากกว่า 80 ห้องนอกจากนี้ อีกปัญหาคือโรงแรมเถื่อน อีก กว่า 500 แห่ง และอาคารที่ได้รับผ่อนผันที่ สร้างไปก่อนแต่ไม่ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อีกจำนวนหนึ่ง อาคารดังกล่าว ล้วนเป็นอาคารเสี่ยงแต่ก็ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องจ้างบริษัทตรวจสอบอาคารตรวจสอบเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภูเก็ตจะมีอาคารประเภทโรงแรมค่อนข้างมาก ส่วน ป้าย โรงมหรสพ อาคารชุมนุมคน ศูนย์การค้าฯลฯ มีจำนวนน้อยมาก" นายอนันต์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559