‘โฟล์คไรซ์’สตาร์ตอัพใหม่รุ่ง ชาวนาแห่ใช้แอพซื้อขายข้าว

06 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
พาณิชย์จัดใหญ่ T.I.D.E. 2016 หวังยกระดับเอสเอ็มอี ต่อยอดสินค้าด้านวัตนกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าพร้อมดันไทยเป็นฮับสินค้านวัตกรรมและการออกแบบของอาเซียน ดันสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขณะ “โฟล์คไรซ์” สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ส่อแววรุ่ง หลังพัฒนาแอพพลิเคชันเพิ่มช่องทางซื้อขายข้าวให้ชาวนาได้รับเสียงตอบรับสูง เล็งเป้ารายได้ปีนี้ 5-10 ล้านบาท และขยับโตปีละ 3%

ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มผลงานด้านนวัตกรมของไทยว่า กำลังมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเวลานี้ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อเป็นการยกระดับสินค้าแข่งขันในเวทีโลก ในส่วนของไทยเองได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการนำมาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในเชิงพาณิชย์

“เพื่อสนับสนุนในเรื่องนี้ กรมจึงได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจส่งออกด้านนวัตกรรมและการออกแบบเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางกลุ่มสินค้านวัตกรรมและการออกแบบของตลาดอาเซียนในอนาคต อีกทั้งไทยยังมีแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยแนวคิดการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าด้วยนวัตกรรมและการออกแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคมให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคม ให้มีชีวิตที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข”

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-18 กันยานนี้ จะจัดงาน “Thailand Innovation and Design Expo 2016' หรือ T.I.D.E. 2016” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รวบรวมผลงานนวัตกรรมและงานออกแบบของผู้ประกอบการ และนักออกแบบไทยเพื่อแสดงศักยภาพและประชาสัมพันธ์ พร้อมนำผลงานนวัตกรรมและงานออกแบบสู่ตลาดเพื่อพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการเสริมสร้างความรู้ด้านนวัตกรรมและการออกแบบให้กับคนไทย โดยเฉพาะ นักเรียน นิสิต นักศึกษา

[caption id="attachment_94422" align="aligncenter" width="336"] อนุกูล ทรายเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟล์คไรซ์ จำกัด อนุกูล ทรายเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟล์คไรซ์ จำกัด[/caption]

ด้านนายอนุกูล ทรายเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟล์คไรซ์ จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายให้กับเกษตรมีตลาดในการรับซื้อสินค้าและกำหนดราคาได้ บริษัทได้สร้างแอพพลิเคชันแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน รวมไปถึงทำหน้าที่กระจายสินค้าให้กับชาวนาที่ไม่มีช่องทางระบายสินค้า โดยจะหักเปอร์เซ็นต์จากเกษตรกรเพียง 10% จากยอดขายสินค้า ล่าสุดมีเกษตรกรใช้แอพพลิเคชันนี้แล้ว ประมาณ 1,000 รายจากทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวนากว่า 80% มีผลิตภัณฑ์ข้าวชนิดต่าง ๆ กว่า 50 สายพันธุ์ เช่นข้าวลืมผัว ข้าวหอมแดง ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ราคาเฉลี่ย 95-120 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนเช่น กะปิ น้ำปลา ผักสด เป็นต้น

“แอพพลิเคชันนี้จะเป็นตัวกลางในการขายให้กับเขาได้ ซึ่งขณะนี้มีโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายแห่งที่สั่งซื้อสินค้าในนี้ นอกจากนี้ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศด้วย ข้อดีของแอพพลิเคชันนี้คือชาวนามีพื้นที่ขายของ สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้เอง ถือเป็นนวัตกรรมและเป็นโอกาส”

อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าในปีนี้ว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรเข้ามาใช้แอพพลิเคชันนี้ไมต่ำกว่า 5,000 ราย และภายใน 10 ปีน่าจะมีถึง 3.5 ล้านรายทั่วประเทศ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้5-10 ล้านบาท และขยายตัวปีละ3%

Photo : folkrice
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559