เมื่อกทม.ไร้ผู้นำ‘สุขุมพันธุ์’ เมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการยังต้องลุ้น!

03 ก.ย. 2559 | 11:30 น.
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานค(กทม.) ทั้งๆ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคมปี2560 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบกรณีการทุจริตอุโมงค์ไฟเฉลิมฉลองปีใหม่ 2559 มูลค่ากว่า 39 ล้านบาทได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีอีกหลายกรณีที่ล้วนแล้วแต่มีผู้ว่ากทม.เข้าไปเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีงบประมาณตกแต่งห้องทำงานที่อาคารกทม.2 ดินแดงเรียกได้ว่าแพงเว่อร์จนเป็นที่กังขาของหลายคน

เมกะโปรเจ็กต์ส่อแววค้างเติ่งเพียบ

ดูเหมือนหลายฝ่ายต่างจับตาว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างตามมา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเทา สายสีทอง และไลต์เรลเส้นทางบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่เพิ่งเซ็นบันทึกความร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปเมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว(บีทีเอส) ส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันของกทม.ทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-พระราม 9) ที่ผู้ว่ากทม.หมายมั่นปั้นมือจะให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมโดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเค.อี. แลนด์ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ย่านเลียบทางด่วนเอกมัย- รามอินทราแต่ก็ไปเจอตอต่อกรณีช่วงทองหล่อที่ยังไม่สามารถต่อเชื่อมกับถนนพระราม 4 ได้อย่างสะดวกเพราะจะต้องเวนคืนที่ดินผืนงาม แน่นอนว่าคงจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลซึ่งนโยบายของผู้บริหารกทม. ยุคนี้จะเลี่ยงกรณีเวนคืนให้มากที่สุด ล่าสุดนั้นจะตัดตอนให้เหลือแค่ช่วงวัชรพล-ทองหล่อเพื่อให้เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ได้ก่อนในช่วงเฟสแรกของการดำเนินงาน ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนเรื่องนี้กันต่อไป

หวั่นกระทบเดินรถสีเขียวเหนือ-ใต้

แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษารายหนึ่งกล่าวแผนงานโครงการต่างๆ ของ กทม. ที่มีว่า ถึงแม้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 2 หน่วยงานจะลงนามเอ็มโอยูไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม ในภาคปฏิบัติยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าใดนัก แม้จะมีกำหนดว่าในเดือนธันวาคมนี้จะมีการทดสอบเดินรถแล้วเปิดให้บริการเดินรถอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งช่วงดังกล่าวนั้นจะครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันนี้พอดี จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงกับประชาชนในโซนพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางให้มีโอกาสกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งที่กทม.อีกครั้ง เช่นเดียวกับข้อตกลงระหว่างกทม.กับบริษัทกรุงเทพธนาคมก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จึงเป็นที่กังวลว่าท้ายที่สุดแล้วจะยืดเยื้อต่อไปหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังถือว่ารฟม.เป็นเจ้าของโครงการหากล่าช้าเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องเรียกเก็บเงินค่าเช่าจากกทม.ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ตามแผนนั้นกทม.จะต้องเข้าไปเริ่มติดตั้งระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าล่าสุดได้เริ่มเข้าไปติดตั้งงานระบบได้แล้วจึงจับตาว่าท้ายที่สุดแล้วการทดสอบเดินรถในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถดำเนินการได้ตามที่ให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้ทันหรือไม่

ประการสำคัญขณะนี้หลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ยังได้มีข้อสงสัยว่ากรณีที่กทม.โดยสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) ไปดำเนินการต่างๆ นั่นโดยเฉพาะการเดินรถและบริหารจัดการโครงการในช่วงนี้นั้นจะเข้าข่ายเป็นกรณีหลบเลี่ยงการที่จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี พ.ศ.2556 หรือไม่ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วมีนาคมนี้ที่จะเปิดให้บริการตามแผนก็คงจะต้องเคลียร์ความกระจ่างเรื่องดังกล่าวนี้ให้ได้ข้อยุติก่อนแน่ๆ

จับตางบประมาณกว่า 7 หมื่นล.

ล่าสุดการผลักดันของสภากรุงเทพมหานครต่อกรณีที่กทม.เสนอขอพิจารณางบประมาณก้อนโตกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทก็ได้รับไฟเขียวเพื่อนำเสนอบรรจุวาระการพิจารณาของหน่วยงานระดับสูงต่อไปก็เสร็จสิ้นแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อกทม.ไร้ซึ่งตำแหน่งผู้ว่าราชการกทม.ที่จะมีสิทธิ์อนุมัติแต่ละโครงการแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น โครงการใช้งบประมาณจะล่าช้าออกไปหรือไม่ กระทบต่อแผนปฏิบัติการของกทม. อย่างไรหรือไม่ ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในขณะนี้

หลายโครงการยังต้องลุ้น

เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้ารูปแบบไรท์เรลเส้นบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติแม้ว่าผลการศึกษาความเป็นไปได้จะแล้วเสร็จไปนานแล้วก็ตามเหลือแต่เพียงการออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น แต่ล่าสุดยังมีปมปัญหาการใช้พื้นที่ช่วงถนนบางนา-ตราดของกรมทางหลวง(ทล.)ที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตทางจึงต้องเวนคืนพื้นที่ตลอดแนว 2 ข้างทางส่วนประชาชนจะให้การสนับสนุนโครงการนี้หรือไม่เมื่อต้องโดนเวนคืนก็คงต้องลุ้นกันอีกเฮือกในยุคผู้ว่ากทม.คนใหม่ นี่ยังไม่นับบีทีเอสส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชันเพื่อการขยายเส้นทางบีทีเอสอีก 6 สถานีที่จะต้องการให้ไปเชื่อมโยงกับสายสีแดงที่ตลิ่งชันก็คงจะหมดลุ้นในยุคนี้ต้องไปฝากความหวังกับผู้ว่ากทม.คนใหม่อีกตามเคย

นอกจากนั้นยังมีรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทองที่จะเชื่อมจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีกรุงธนบุรีไปยังท่าดินแดงเพื่อจะให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ในอนาคตที่ย่านสะพานพระปกเกล้า-วงเวียนเล็กก็คงหมดสิทธิ์ลุ้นตามไปด้วย

ณ วันนี้แม้จะไร้ตัวผู้นำอย่างผู้ว่ากทม.แต่เชื่อว่าหลายคนยังมีความหวังที่จะได้เห็นโครงการต่างๆ ของกทม.ขับเคลื่อนไปอย่างไม่สะดุด ส่วนโครงการจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ กี่โครงการนั้นก็ต้องลุ้นกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559