ศศป.ดันหัตถศิลป์ชุมชนเชื่อมนวัตกรรม

02 ก.ย. 2559 | 01:30 น.
ศศป.ผลักดัน 9 ชุมชนหัตถศิลป์เชื่อมโยงวัฒนธรรม นวัตกรรม เป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยว และผู้ที่ชื่นชอบงานฝีมือเข้าสู่ชุมชน สร้างรายได้เป็นฐานได้อย่างยั่งยืน

นางอัมพวัน พิชาลัย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนหัตถกรรมในปีนี้ยังคงเน้นการเติมโจทย์ชุมชนหัตถกรรมอย่างต่อเนื่องใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านบุคลากร หมายถึง ครูฯหรือทายาท ที่ SACICT เชิดชูเกียรติ จัดให้มีการอบรมความรู้ ทั้งการบริหาร การจัดการ การตลาด เสริมความคิดสร้างสรรค์สู่การเป็นผู้ประกอบการให้กับบุคลากรภายในชุมชน

2) ด้านผลิตภัณฑ์ ได้คัดเลือกงานหัตถกรรมที่โดดเด่นขึ้นมาพัฒนาให้เด่นชัด เช่น นำนักออกแบบเข้าพื้นที่ ร่วมแก้ไขปัญหาด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มีความร่วมสมัยให้ชุมชนได้เรียนรู้ และ 3) สถานที่ คือ เชื่อมโยงหน่วยงานในพื้นที่ ผลักดันให้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมผ่านวิถีชุมชน เพื่อให้คนที่สนใจเดินทางไปเรียนรู้และท่องเที่ยวภายในชุมชนเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2559 SACICT ได้คัดเลือกชุมชนหัตถกรรมที่มีครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาท รวมกว่า 20 ท่านจาก 9 ชุมชนหัตถกรรม ได้แก่ ชุมชนหัตถกรรมทอผ้ากะเหรี่ยง บ้านหล่ายแก้ว อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่, ชุมชนหัตถกรรมผ้าจก เครื่องทอง เครื่องเงิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย, ชุมชนหัตถกรรมผ้าทอย้อมคราม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร, ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าแพรวา บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์, ชุมชนหัตถกรรมผ้าโฮลและเครื่องเงิน อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, ชุมชนหัตถกรรมผ้าไหมบ้านหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์, ชุมชนหัตถกรรมผ้าไหมและจักสานกก อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม, ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และชุมชนหัตถกรรมทอผ้ายกและจักสานกระจูด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทั้ง 9 ชุมชนจะได้รับพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ซึ่งบรรดาครูฯและทายาท ในชุมชนให้การตอบรับเข้าร่วมดำเนินงานอย่างดี ขณะที่บางชุมชนอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมในชุมชนเอง ซึ่งประเด็นต่างๆจะถูกนำวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหาแนวทางดำเนินงานเพิ่มเติมต่อไป

"SACICT ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความต้องการ ค้นหาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหัตถกรรมนั้นๆ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคการศึกษา หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว พาณิชย์จังหวัด พัฒนาชุมชน แม้กระทั่งอุตสาหกรรมระดับภาค เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาร่วมกันให้เกิดได้อย่างยั่งยืน โดยคนในพื้นที่นั่นให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง"

สำหรับด้านการส่งเสริมช่องทางตลาด ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการพัฒนา เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2559 ได้จัดกิจกรรมแสดงองค์ความรู้หัตถกรรมและผลิตภัณฑ์จากทั้ง 9 ชุมชนหัตถกรรม ณ ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ ชั้น 2 สยามพารากอน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างการรับรู้ เผยแพร่ผลงานของกลุ่มครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทสู่สังคมวงกว้าง พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมเยียนและถ่ายทอดองค์ความรู้หัตถกรรมต่างๆด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559