5สมาคมท่องเที่ยวรับไม่ได้ รัฐเพิ่มหลักประกันเป็น1ล้าน

01 ก.ย. 2559 | 04:00 น.
5 สมาคมด้านธุรกิจนำเที่ยวไทยวิตกผลกระทบหากถูกภาครัฐ เพิ่มหลักประกันขึ้นเป็น 5 เท่า ชี้รับไม่ไหวหากเพิ่มจาก 2 แสนบาทเป็น 1 ล้านบาท เร่งหาจุดยืนที่รับได้ต่อรองภาครัฐก่อนกระบวนการออกกฎหมายลูก ด้านปลัด"พงษ์ภาณุ"รับสนช.ร่อนหนังสือให้ทบทวนวงเงินให้ยุติธรรม หวั่นเป็นภาระธุรกิจเอสเอ็มอี เหตุใช้อัตรานี้มากว่า 20 ปี ค่าชดเชยไม่คุ้มกับร้องเรียนหรือนักท่องเที่ยวถูกลอยแพ ชี้เอาต์บาวด์มีปัญหามากและความเสียหายแต่ละครั้งวงเงิน1-2 ล้านบาท

นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในขณะนี้ 5 สมาคมที่เกี่ยวกับข้องกับธุรกิจนำเที่ยว ได้แก่ แอตต้า,สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ),สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (ทีอีเอทีเอ)และสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย(สสทท.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการต่อรองกับภาครัฐ ถึงอัตราการปรับเพิ่มวงเงินหลักประกันของผู้ประกอบการนำเที่ยว ที่มีความเหมาะสม โดยที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มีวงเงินในการสำรองจ่ายชดเชยให้แก่นักท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด

"เบื้องต้นทราบว่าภาครัฐมีแผนจะเรียกเก็บวงเงินหลักประกันเพิ่มเป็น 5 เท่าหรือ 500% ซึ่งจะถูกบรรจุอยู่ในประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรืออาจจะเป็นกฏกระทรวงตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2 )พ.ศ.2559 ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ทั้ง 3 วาระไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นทั้ง 5 สมาคมจึงต้องหารือถึงอัตราการวางวงเงินหลักประกันที่ผู้ประกอบการรับได้ เพื่อนำไปเสนอแก่ภาครัฐ ก่อนกระบวนการออกเป็นกฏกระทรวงที่จะต้องเกิดขึ้น รวมถึงได้ฝากเรื่องให้นายพงศ์ภาณุ เศวตรุณปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยพิจารณาทบทวนปรับอัตราหลักประกันไม่ให้เพิ่มสูงมากจนเกินไป ที่ธุรกิจจะรับไหว"

เนื่องจากปัจจุบันตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 บริษัทนำเที่ยวพาคนไทยเที่ยวต่างประเทศ (เอาต์บาวด์) ต้องวางหลักประกัน 2 แสนบาท บริษัทนำเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย (อินบาวด์) ต้องวางหลักประกัน 1 แสนบาท บริษัทนำเที่ยวในประเทศ วางหลักประกัน 5 หมื่นบาท และบริษัทนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ วางหลักประกัน 1 หมื่นบาท ซึ่งหากภาครัฐปรับเพิ่มหลักประกันเป็น 5 เท่า ก็จะทำให้ธุรกิจทัวร์เอาต์บาวด์ ต้องวางหลักประกันเพิ่มเป็น 1 ล้านบาท อินบาวด์ เพิ่มเป็น 5 แสนบาท โดเมสติก เพิ่มเป็น 2.5 แสนบาทเป็นต้น

นายเจริญ ยังกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการมีความเข้าใจว่าดีว่าอัตราหลักประกันดังกล่าว วางไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ปัจจุบันค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป และเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับอัตราหลักประกันก็เป็นสิ่งที่ควรปรับให้เข้ากับภาวะปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ได้คัดค้านว่าไม่ให้มีการปรับอัตราเพิ่มขึ้น เพียงแต่ควรต้องทำให้แนวทางของทั้งเอกชนและภาครัฐเจอกันให้ได้แบบสมดุล นี่เองจึงทำให้ทั้ง 5 สมาคมต้องเร่งหารือเพื่อหาแนวทางว่าควรจะเพิ่มอัตราค้ำประกันได้เท่าไหร่ มีกรอบระยะเวลาอย่างไร หรือจะเพิ่มหลักประกันในรูปแบบใด

"จากการหารือร่วมกันเป็นครั้งแรกของ 5 สมาคม เมื่อไม่นานมานี้ เบื้องต้นผู้ประกอบการก็มองว่าถ้าปรับขึ้น 1-2 เท่า หรือ 100%-200% ก็น่าจะพอรับไหวไหม เพราะเอาต์บาวด์ ก็เพิ่มจาก 2 แสนบาทเป็น 4 แสนบาท รวมไปถึงระยะเวลามีการพูดกันว่าเป็นไปได้ไหมที่การเพิ่มหลักประกันสำหรับผู้ประกอบการที่มายื่นจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวใหม่ ให้ใช้อัตราหลักประกันใหม่ได้ทันที ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว หากต้องวางหลักประกันเพิ่มเป็น 2 แสน ก็จะขอให้ทยอยเพิ่มหลักประกันปีละ 1 แสนบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาหายใจ"

อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะทั้ง 5 สมาคมต้องไปทำการบ้านในเรื่องนี้มา และต้องไปทำวิจัยการเพิ่มหลักประกันด้วยพิจารณาข้อดีข้อเสีย เพื่อสรุปแนวทางสำหรับหารือกับภาครัฐต่อไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการนำเที่ยว อยากเรียกร้องให้ภาครัฐเห็นใจด้วย เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่ร้องเรียนการทำทัวร์ไม่เป็นไปตามโปรแกรมและเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 16 ราย คิดเป็นวงเงินในหลักล้านกว่าบาท จากจำนวนบริษัทนำเที่ยวในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9,000-11,000 บริษัท ซึ่งความเสียหายของหลักประกันก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราหลักประกันที่สูงเกินไป ก็ไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้มากนัก นายเจริญ กล่าว

ด้าน นายพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เรื่องของการเพิ่มอัตราหลักประกันบริษัทนำเที่ยวนั้น ในขณะนี้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)มีหนังสือมาถึงตน ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ โดยต้องการให้ทบทวนเรื่องของอัตราหลักประกันที่จะออกมา ให้ไม่เป็นการสร้างภาระ และให้เกิดความยุติธรรมในการพิจารณา เนื่องจากสนช.เห็นว่าอาจเป็นภาระสำหรับบริษัทนำเที่ยวขนาดเล็ก จึงไม่อยากให้เก็บเพิ่มขึ้นทุกราย ขณะเดียวกันทางสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็มีความกังวลใจในเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงฯจะรับเรื่องนี้ ไปร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะออกมาบังคับใช้

ด้านนางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่าพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ฉบับใหม่ (พ.ศ.2559) อยู่ระหว่างขั้นตอนทูลเกล้าฯ เพื่อเตรียมประกาศราชกิจจานุเบกษาและขั้นตอนต่อจากนั้น ยังมีเวลา 120 วันในการออกกฎหมายลูก ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวง หรือประกาศที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ซึ่งเรื่องการเพิ่มหลักประกันของบริษัทนำเที่ยวก็จะมีการออกเป็นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กำหนดอัตราหลักประกันใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยก่อนจะกำหนดว่าอัตราหลักประกันควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อัตราหลักประกันที่เหมาะสม รวมถึงการหารือร่วมกับผู้ประกอบการต่างๆที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และการทำประชาพิจารณ์ก่อนออกประกาศอยู่แล้ว

ส่วนเหตุผลที่ทางสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มองเห็นถึงความจำเป็นในการปรับเพิ่มอัตราหลักประกัน เนื่องจากหลักประกันนี้ เป็นการกำหนดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ซึ่งนานกว่า 20 ปีขึ้นไปแล้ว จึงสมควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับปัจจุบัน เพราะเมื่อเกิดปัญหาการโกงกันเกิดขึ้น เฉลี่ยแล้ววงเงินที่นักท่องเที่ยวจะได้รับการชดเชย จากองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ที่มีการเรียกเก็บจากหลักประกันของผู้ประกอบการนำเที่ยว ก็ได้รับน้อยมาก

อย่างกรณีทัวร์เอาต์บาวด์ มีหลักประกัน 2 แสนบาท เมื่อหารกันทั้งรถบัสก็เหลือไม่เท่าไหร่ อีกทั้งหลักประกันที่ถูกนำไปชดเชยความเสียหายให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นหลักประกันของบริษัทที่กระทำผิด เมื่อถูกหักไปก็ต้องนำมาเติมให้เต็ม ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ไม่เคยถูกร้องเรียน หลักประกันก็ไม่ได้หายไปไหน และเมื่อเลิกดำเนินธุรกิจก็สามารถมาขอหลักประกันคืนได้ด้วย อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มหลักประกันดังกล่าวเป็นเพราะของเดิมนั้นน้อยเกินไปโดยเฉพาะทัวร์เอาต์บาวด์ที่มีปัญหาการร้องเรียนเข้ามามากและแต่ละครั้งมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันเดิมนั้นไม่เพียงพอที่จะจ่ายชดเชย จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มหลักประกัน ซึ่งอย่างไรก็ดีเรื่องนี้คงต้องฟังความเห็นจากผู้ประกอบการด้วย

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายสมาคมโรงแรมไทย และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่าการออกกฎหมายลูก เรื่องของการเพิ่มหลักประกันการดำเนินธุรกิจนำเที่ยวนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบในกรณีที่ทิ้งทัวร์หรือขายทัวร์ไม่เป็นไปตามโปรแกรม โดยเฉพาะทัวร์เที่ยวต่างประเทศ (เอาต์บาวด์) ซึ่งภาครัฐ ต้องการเพิ่มหลักประกัน โดยเฉพาะในส่วนของเอาต์บาวด์มากหน่อย จาก2 แสนบาทเป็นหลักล้านบาท แต่มองที่จะคงหลักประกันเฉพาะธุรกิจนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 1 หมื่นบาท

"ผมก็ได้แนะนำให้แอตต้าและสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องไปร่วมหารือเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงหาข้อมูลเพื่อหารือกับภาครัฐ ถึงอัตราหลักประกันที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย จะขึ้นหลักประกันเท่าไหร่ หรือจะทยอยขอเพิ่มหลักประกันในส่วนของผู้ประกอบการรายเดิม เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากซึ่งการจะออกกฎหมายใด ๆ ภาครัฐพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนอยู่แล้ว แต่ภาคเอกชนต้องมีความชัดเจนในการหาโซลูชันในการแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอ ที่ทำให้ภาครัฐต้องออกกฎหมาย มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559