ประธานเจโทรแนะช่องทางลงทุน ย้ำไทยรักษาบทบาทฮับอาเซียน

01 ก.ย. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง (มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559) ว่า ญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในอาเซียนและโดยเฉพาะประเทศไทย ยังคงเป็นฐานการลงทุนที่บริษัทญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจ โดยสถิติล่าสุดในปี 2558 ชี้ว่าญี่ปุ่นมาลงทุนในอาเซียน 10 ประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 19,914 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการลงทุนในสิงคโปร์มากที่สุดที่ 6,479 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยไทยและอินโดนีเซียที่มีเม็ดเงินการลงทนุ จากญีปุ่นสูสกี นั ที่ 3,501 ล้านดอลลาร์และ 3,497 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ จากนั้นจึงเป็นมาเลเซีย 2,892 ล้านดอลลาร์ฟิลิปปินส์ 1,450 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม1,360 ล้านดอลลาร์ เมียนมา 515 ล้านดอลลาร์ กัมพูชา 206 ล้านดอลลาร์ ลาว

เตือนไทยอย่าเสียโอกาส

“ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจญี่ปุ่นประเทศเดียวที่ซบเซา แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อเป็นเช่นนี้การที่การลงทุนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นในไทยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก แล้วตลาดที่นำเข้าสินค้าเกิดภาวะซบเซาหรือเศรษฐกิจชะลอตัวขึ้นมา บริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยก็จะได้รับผลกระทบบ้าง ถ้ามองกันในระยะสั้นๆ อาจจะเห็นว่าการลงทุนจากญี่ปุ่น (มายังไทย) อาจมีการหดตัวลงบ้าง แต่ถ้ามองกันในระยะยาวกว่านี้ก็จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยและในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง” ประธานเจโทรกล่าวขยายความว่า ก่อนปีพ.ศ.2555 ญี่ปุ่นไปลงทุนในประเทศจีนมากกว่าอาเซียน แต่นับจากปี 2555 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็มาลงทุนในอาเซียนมากกว่าที่จะเข้าไปในจีน และปัจจุบันการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนก็มากกว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนถึง 2 เท่า

เมื่อถามว่า ไทยยังเป็นแหล่งการลงทุนที่ดึงดูดใจบริษัทญี่ปุ่นหรือไม่ ประธานเจโทรคนใหม่ซึ่งยืนยันว่า จะมาสานต่อการสร้างบรรยากาศการค้า-การลงทุนที่ดียิ่งๆขึ้นไประหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้คำตอบว่า นั่นขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถคงบทบาทการเป็นศูนย์กลาง (hub)การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนหรือไม่ ซึ่งนี่จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยการตัดสินใจของผู้ลงทุนจากญี่ปุ่น “ต้องยอมรับว่า ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ศักยภาพของไทยอาจจะด้อยลงไปในบางอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศอื่นในอาเซียนแทน เช่น เวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีกปัจจัยประกอบคือ การเป็นสมาชิกกลุ่มทีพีพี (กลุ่มความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ของเวียดนามที่จะทำให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามสามารถส่งออกไปยังตลาดประเทศสมาชิกทีพีพี ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้อย่างเสรี ขณะที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพี ก็จะเสียโอกาส”

อย่างไรก็ตาม นายฮิโรกิ มองว่า ไทยยังเป็นฐานการลงทุนที่มีศักยภาพและมีความแข็งแกร่งในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอะไหล่และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมและมั่นคง ทั้งยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกับไทย ขยายธุรกิจและการลงทุนออกไปยังประเทศอื่นๆในอาเซียน หรือแม้กระทั่งในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อีกด้วย

อย่ามองข้ามโอกาสใหม่ที่เปิดกว้าง

“อีกแขนงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและผมอยากจะกล่าวถึงคือ Creative Industry หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์ แอนิเมชั่น ดนตรี-บันเทิง อาหาร รวมทั้งการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็กำลังผลักดันให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นออกมาลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพราะมีความเข้าใจและคุ้นเคยวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นอย่างดี จึงน่าจะร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี”

ประธานเจโทรกล่าวเสริมด้วยว่า โอกาสขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และไม่จำเพาะว่าต้องมาลงทุนในไทยเท่านั้น แต่บริษัทไทยเองยังสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่น “ผมอยากจะเรียนว่า ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมในภาคบริการของบริษัทญี่ปุ่นในไทย มีการขยายตัวมากกว่าอุตสาหกรรมในภาคการผลิตด้วยซ้ำ และประเภทของอุตสาหกรรมบริการก็มีหลากหลาย เช่น ค้าปลีก การเงิน การขนส่ง (โลจิสติกส์) การบริการด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น ส่วนบริษัทของไทยที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีธุรกิจภาคบริการหลายด้านที่บริษัทไทยน่าจะมีโอกาสที่ดี ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและการส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจที่พักและสปา เป็นต้น”

ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมบรรยากาศการค้า-การลงทุนที่ดี รวมทั้งให้ข้อมูลและคำแนะนำปรึกษาแก่บริษัทไทยและญี่ปุ่นที่สนใจหาเสาะลู่ทางการค้า-การลงทุนระหว่างกัน ประธานเจโทรเปิดเผยว่า ยินดีต้อนรับบริษัทไทยที่สนใจบุกเข้าเจาะตลาดญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ เจโทรได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสปาไทยระดับพรีเมี่ยมรายหนึ่งไปเปิดขยายธุรกิจด้านที่พักและสปาที่ญี่ปุ่นเป็นผลสำเร็จ โดยนอกจากจะจัดหาสำนักงานชั่วคราวราคาย่อมเยาให้เช่าดำเนินการในช่วงแรกๆแล้ว ยังช่วยในเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบการธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น ช่วยจัดหาแรงงานในพื้นที่และขอวีซ่าทำงานให้พนักงานคนไทย ตลอดจนทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ไปอุดหนุนบริการ เป็นต้น

“โอกาสยังเปิดกว้างนะครับ โดยเฉพาะช่วงนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นกำลังบูม มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ลงทุนของไทยอีกมาก อย่างในปี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งกีฬาโอลิมปิค เรายังต้องการที่พักอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ลงทุนของไทยไม่จำเป็นต้องเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงแรมหรือที่พักใหม่ๆ แต่อาจเข้ามาปรับปรุงหรือบริหารอาคารที่มีอยู่เดิมให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้” ประธานเจโทรยกตัวอย่าง พร้อมให้ตัวเลขสถิติว่า ในปี 2558 การลงทุนโดยตรงสะสมของผู้ลงทุนไทยในญี่ปุ่นมีมูลค่ารวม 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนโดยตรง (สะสม) ของญี่ปุ่นในไทยนั้นอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงจะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ขอแค่ความมั่นใจ

“บริษัทญี่ปุ่นอยากเห็น 2 สิ่งในอันดับต้นๆ เพื่อช่วยให้เขาตัดสินใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น นั่นก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไป รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมประเภทธุรกิจมากขึ้นและไม่จำกัดเขตพื้นที่ นอกจากนี้ยังอยากเห็นรัฐบาลไทยสร้างความมั่นคงทางการเมือง ลดความขัดแย้ง เพื่อที่เขาจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจและสบายใจ” ประธานเจโทรกล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมไทยนั้น นับว่ามาถูกทิศทางแล้ว แต่ควรเจาะรายละเอียดสร้างความชัดเจนให้มากกว่านี้ กำหนดยุทธศาสตร์ออกมาเป็นเรื่องๆ มีลำดับความสำคัญ ซึ่งจะจูงใจและช่วยให้ผู้ลงทุนของญี่ปุ่นตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559