เวียดนามจ่อแชมป์เหล็กอาเซียน แซงไทยทั้งผลิต - บริโภค - ส่งออก

30 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
นโยบายของรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพื้นฐานมากขึ้นทั้งปิโตรเคมีและโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่วางเป้าหมายไว้ชัดเจน มีการขับเคลื่อนที่รวดเร็ว ดูจากที่ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามสามารถดึงบริษัท ฟอร์โมซากรุ๊ปส์ฯ (FORMOSA)ผู้ผลิตเหล็กและปิโตรเคมีรายใหญ่ของไต้หวัน เข้ามาลงทนุ ในอุตสาหกรรมเหล็กได้ โรงงานแห่งนี้อยู่ในพื้นที่เมืองฮาติงห์ (Ha tinh)ตั้งอยู่ระหว่างฮานอยและดานัง สร้างเป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ขนาด 1 หมื่นไร่ วางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตที่จะมีปริมาณสูงถึง 20 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ ฟอร์โมซา กรุ๊ปส์ ร่วมมือกับ บริษัท ไชน่า สตีลจากจีน ถือหุ้น 30% และบริษัท เจเอฟอี สตีลคอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 5% โดยทุนไต้หวันถือหุ้นใหญ่ที่ขณะนี้เริ่มเดินเครื่องได้แล้วในบางส่วน เบื้องต้นใช้เงินลงทุนไปแล้วราว1.10 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ38,500 ล้านบาท(ตามอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)สำหรับการลงทุนผลิตเหล็กเฟสแรกที่จำนวน 7 ล้านตัน แบ่งเป็นผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจำนวน 5 ล้านตันและผลิตไวรอตและบิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กเส้น) จำนวน 2 ล้านตัน โดยเริ่มผลิตเหล็กไวรอตได้เมื่อต้นปี 2559 และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนได้แล้ว

ยอดใช้เหล็กพุ่ง สูงสุดรอบ10ปี

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Vietnam Steel Association ที่ระบุว่า ความต้องการใช้เหล็กในเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อปี 2554 มีความต้องใช้เหล็กทุกชนิดรวมกันอยู่ที่ 10.01 ล้านตัน ปี 2555 เพิ่มเป็น 10.9 ล้านตันและในปี2556 เพิ่มเป็น 11.9 ล้านตัน ต่อมาในปี 2557 เพิ่มเป็น 14.1 ล้านตัน ก่อนที่ปี 2558 จะทุบสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยความต้องการใช้เหล็กทุกชนิดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 18.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณการใช้เหล็กที่สูงกว่าไทย ซึ่งมีความต้องการใช้เมื่อปี 2558 เพียง 16.7 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

จ่อเบอร์ 1 อาเซียนแทนไทย

นอกจากนี้วงการเหล็กต่างวิเคราะห์กันอีกว่าในเร็วๆ นี้ หรือไม่เกินปี2563 เวียดนามจะก้าวขึ้นแท่นเบอร์ 1 ของอาเซียนในแง่ฐานการผลิตและปริมาณการบริโภคเหล็กภายในประเทศรวมถึงการส่งออก จะเข้ามาแทนที่ประเทศไทยเต็มตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น มาตรการรับมือ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ อีกทั้งเวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากจีน โดยที่จีนใช้ฐานการผลิตเวียดนามเป็นประเทศฐานที่นำสินค้าเข้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะส่งออกไปยังตลาดอาเซียนแล้วอ้างว่าถิ่นกำเนิดมาจากเวียดนาม เพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี

ในขณะที่ประเทศไทยกว่า 10 ปีก่อน ภาคเอกชนกลุ่มเหล็กพยายามเสนอแผนผุดโรงถลุงเหล็กแห่งแรกในไทย โดยจับมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นหลายรายที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในลำดับต้นๆของญี่ปุ่นที่ออกมาแสดงความสนใจเสนอตัวร่วมลงทุนด้วย แต่การลงทุนต้องสะดุดลงด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่รัฐบาลไม่นำร่องโครงสร้างพื้นฐานให้ อีกทั้งไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมถึงการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจนทำให้นโยบายไม่ต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการทุ่มตลาดเหล็กอย่างต่อเนื่อง โดยที่มาตรการรับมือจากรัฐบาลออกมาล่าช้ากว่าประเทศอื่น

หากดูข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยระบุว่า เมื่อปี 2558 พบว่ามีความต้องการใช้เหล็กในประเทศรวมทั้งสิ้น 16.7 ล้านตันในจำนวนนี้จะมาจากการนำเข้าสูงถึง 11.4 ล้านตัน และผู้ผลิตไทยส่งออกเหล็กได้เพียง 1.2 ล้านตัน ปี 2559 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ในประเทศราว 17.5 ล้านตัน เฉพาะ ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) มีความต้องการใช้แล้ว 9.9 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีการนำเข้ามาแล้วถึง 6.4 ล้านตัน ที่เหลือใช้ในประเทศ ซึ่งผู้ผลิตไทยยังต้องรับศึกหนักจากการนำเข้า ในขณะที่ผู้บริโภค อาจได้รับผลกระทบจากเหล็กไม่ได้มาตรฐาน

เดิน 3 ยุทธศาสตร์ชิงได้เปรียบ

นายกรกฏ ผดุงจิตต์ รองประธานฝ่ายกิจการภายนอก บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม กล่าวว่า หลังจากปี2554 ที่เวียดนามเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ทำให้กลับมาฟื้นฟูประเทศโดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ทางที่ได้เปรียบกว่าใครในโซนอาเซียน ไล่ตั้งแต่ยุทธศาสตร์แรก คือการ กระตุ้นการลงทุนจากทั่วโลกโดยอาศัยค่าแรงถูกเป็นจุดขาย ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีภาษีขาเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 0% เมื่อโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเกิดขึ้นในเวียดนาม และพร้อมผลิตขายเชิงพาณิชย์ได้ รัฐบาลจึงออกมาคุ้มครองโดยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจาก 0% เพิ่มเป็น10% เป็นการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ

ตั้งเป้าอุตฯเหล็กชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานที่น่าจับตา เช่น กำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมเหล็กไว้ชัดเจนเพื่อให้เวียดนามมีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดตลอด 10 ปีข้างหน้า อีกทั้งนำเสนอต่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development; OECD) โดยมีเป้าหมายของการผลิตสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดจาก 13 ล้านตัน ในปี 2558 เพิ่มเป็น 38 ล้านตัน ภายในปี 2568 (ดูตาราง)

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งออก รัฐบาลเวียดนามยังกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า จะเพิ่มสัดส่วนของการส่งออกในปี 2558 ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของการผลิตทั้งประเทศ (เท่ากับปริมาณส่งออก 1.95 ล้านตัน) จะเพิ่มจนมีสัดส่วนเป็น 25% ของการผลิตทั้งประเทศ (เท่ากับปริมาณส่งออก 9.5 ล้านตัน) ซึ่งหมายความว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าเหล็กจากเวียดนามจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 17.2% ตลอด 10 ปี

ดังนั้นผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อหนีไปสู่ตลาดเหล็กที่มีมูลค่าสูงขึ้น หรือผลิตเหล็กคุณภาพพิเศษที่เวียดนามยังผลิตไม่ได้ เช่น การผลิตเหล็กเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม และแมกนีเซียม ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิบัตรสินค้าดังกล่าวจากญี่ปุ่น จึงจะแข่งขันได้ โดยใช้จังหวะที่เวียดนามเพิ่งเริ่มก้าวสู่อุตสาหกรรมเหล็กเต็มตัว โดยเริ่มต้นที่ผลิตเหล็กเกรดธรรมดาเป็นส่วนใหญ่

ไทยแหยงเจอจีน-เวียดนามบีบ

ด้านดร.ฐิติกร ทรัพย์บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แอลพีเอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะผู้ผลิตในประเทศว่า เวลานี้เหล็กรูปพรรณตัวซี เหล็กทำรางน้ำ จะมีการนำเข้ามาจากเวียดนาม โดยที่เวียดนามนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพื่อนำมาผลิตเป็นเหล็กราง เหล็กตัวซีแล้วส่งมาขายในไทยในราคาไม่ต่างจากที่จีนส่งมาขายในไทย นับจากนี้ไป จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เนื่องจากปี 2560 เวียดนามจะผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนได้เอง จะทำให้ผู้ผลิตไทยอย่างกลุ่มทุนสหวิริยา สตีล และกลุ่มจี สตีล รวมถึงกลุ่มแอลพีเอ็น เพลท มิลฯ จะได้รับผลกระทบในแง่การแข่งขัน โดยรับศึกหนักที่แข่งขันกับทั้งจีนและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยจะรับมือได้หรือไม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่ที่ มาตรการตอบโตการทุ่มตลาดหรือเอดีจะต้องประกาศใช้ให้เร็วขึ้น อีกทั้งขั้นตอนการนำเข้าจะต้องยากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งแปลว่ารัฐบาลจะต้องเร่งเครื่องในการรับมือให้เร็วกว่านี้ทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานและมาตรการตอบโต้

จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าทุกชนิดโดยอาศัยความได้เปรียบที่มีทุกด้าน ตั้งแต่ค่าแรงถูก มีแรงงานอายุอยู่ในวัยทำงานเฉลี่ยอายุ 20-30 ปี และมีตลาดบริโภคในประเทศมากกว่า 90 ล้านคน อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบด้านข้อตกลงทางการค้า หลังจากที่เวียดนามได้บรรลุความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)กับสหภาพยุโรป หรืออียูแล้ว คาดจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ และเป็นตลาดใหญ่สุดในกลุ่ม ซึ่งทีพีพีนี้ 12 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลงไปแล้ว

จากความได้เปรียบดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตเหล็กเวียดนาม พร้อมที่จะดำเนินธุรกิจส่งออกด้วยการทุ่มตลาดไปยังตลาดในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคตกำลังจะเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมเหล็กโดยเฉพาะเหล็กเคลือบทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะพ่ายเวียดนามทั้งในแง่ปริมาณการผลิต การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่มีสัดส่วนมากกว่าไทยจึงจับตามองเวียดนาม

ดังนั้นไทยจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและรับมือให้ได้อย่างเท่าทัน !

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559