รัฐหวั่นก๊าซในอ่าวไทยหาย ใกล้หมดสัมปทานบงกช/เอราวัณผลิตเหลือ300ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

30 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงพื้นที่สำรวจแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกชกว่า 300 แท่น เร่งประเมินค่ารื้อถอน ก่อนหมดสัญญาปี2565-2566 ชี้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องรับภาระตามสัดส่วนสำรอง พร้อมเร่งสรุปแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หวั่นผลกระทบจากการหยุดลงทุน2 แหล่งทำให้อัตราก๊าซลดลงปีละ 40% อัตราการผลิตลดลงเหลือ 300ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2564

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการลงทุนพื้นที่เพื่อสำรวจแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ที่มีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และแหล่งบงกช ที่มีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน ที่ปัจจุบันมีกว่า 300 แท่น เพื่อประเมินปริมาณสำรองของแต่ละแท่น โดยจะนำมาคำนวณค่ารื้อถอนของแต่ละแท่น จากทั้งหมดที่ประเมินไว้ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังที่ทั้ง 2 แหล่งสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 และต้องส่งคืนรัฐ

ทั้งนี้ กรมเห็นว่า หากแท่นผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว ยังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลือก็อาจคงไว้ ยังไม่มีการรื้อถอน และให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจ่ายเงินตามสัดส่วนมายังกรมฯก่อน ขณะที่ค่ารื้อถอนอีกส่วนหนึ่งจะเสนอให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่รับภาระร่วมด้วยตามสัดส่วน อาทิ แท่นผลิตปิโตรเลียมที่ลงทุนโดยเชฟรอนหรือปตท.สผ. เมื่อใช้มาแล้วระยะหนึ่งแต่ภายหลังจากหมดสัญญา พบว่ายังมีปริมาณสำรองสามารถผลิตก๊าซได้ต่อไปอีก ก็จะให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ต้องการใช้แท่นต้องรับภาระตามสัดส่วน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ไม่ต้องลงทุนแท่นใหม่ สามารถผลิตต่อได้ทันที

อย่างไรก็ตาม กรมมีความกังวลว่าภายหลังจากเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชในช่วงเดือนมีนาคม 2560 หากเป็นผู้รับสัมปทานรายใหม่ชนะการประมูล จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซของทั้ง 2 แหล่ง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาเริ่มต้นผลิตใหม่ อาจทำให้ช่วงรอยต่อ ที่คาดการณ์ว่าก๊าซจะหายได้ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตในช่วงปี 2561-2568 จะกลับมาช้า หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานาน เมื่อเทียบกับกรณีที่เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมชนะการประมูล การผลิตก๊าซฯจะทยอยเพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการหยุดลงทุน จะทำให้อัตราการผลิตก๊าซทั้ง 2 แหล่ง จะหายไป 40% ต่อปี ทำให้คาดว่าอัตราการผลิตจะเหลือเพียง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2564 ขณะเดียวกันตามแผนบริหารจัดการก๊าซ กรมต้องการยืดอายุก๊าซในอ่าวไทย โดยตั้งเป้าลดอัตราการผลิตก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 80 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,ปี 2560 อยู่ที่ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,ปี 2561 อยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในช่วง 5 ปีอยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น คาดการณ์ว่าภายหลังจากปี 2565 อัตราการเรียกก๊าซที่ต้องการจากแหล่งบงกชและเอราวัณ จะอยู่ที่ 1.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

"ปัจจุบันแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีกว่า 400 แท่น แต่แท่นในแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งจะหมดสัญญาปี 2565-2566 จะมีออยู่ประมาณ 300 แท่น ซึ่งกรมฯต้องลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าแท่นใดยังใช้ต่อไปได้ รวมทั้งต้องประเมินค่ารื้อถือ เนื่องจากการทำหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การรื้อถอนแท่นผลิต,การคัดเลือกแปลงปิโตรเลียม และการคัดเลือกระบบในการประมูล คาดว่าหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนมีนาคม 2560 ดังนั้นกรมต้องเร่งสรุปค่ารื้อถอนแต่ละแท่น จากเดิมที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องจ่ายค่ารื้อถอนดังกล่าว แต่หากยังเห็นว่าแท่นดังกล่าวยังสามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ก็จะเจรจาต่อรองเพื่อให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ ต้องจ่ายด้วยบางส่วน นอกจากนี้แปลงสัมปทานเอราวัณบี 10-13 และบงกชบี 15-17 รวมทั้งสิ้น 7 แปลง อาจจะนำมารวมกันหรือยุบก็ได้ ซึ่งยังศึกษาหลายรูปแบบอยู่"

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ กรมยังอยู่ระหว่างเร่งสรุปแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตให้ใกล้ชิดกว่าเดิม โดยเฉพาะกรณีแหล่งเอราวัณและบงกช จะหมดสัญญาในปี 2565-2566 ซึ่งปัจจุบันทางผู้รับสัมปทานทั้ง 2 ราย ได้เจรจาขอลดอัตราการผลิตตามสัญญา DCQ กับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะคู่สัญญาได้ในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุ ซึ่งทางกรม ได้ให้ ปตท.ชะลอการเจรจาออกไปก่อน เนื่องจากต้องรอแผนก๊าซฯชัดเจนก่อน ถึงปริมาณความต้องการใช้ ปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทย และปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เพื่อเข้ามาทดแทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559