ธุรกิจยูโรโซนไม่หวั่นเบร็กซิท พร้อมลุยแผนลงทุนแม้ความสัมพันธ์อังกฤษ-ยุโรปยังไม่ชัด

30 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
ผลสำรวจพบว่าภาคธุรกิจในยูโรโซนมีแผนจะเดินหน้าการลงทุนตามเดิม แม้ว่าผลประชามติจะออกมาว่าอังกฤษตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แสดงถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนจากเบร็กซิทอยู่ในวงจำกัด

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ก่อนการทำประชามติของอังกฤษเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า หากผลการลงมติออกมาว่าอังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคยูโรโซน และทำให้ผู้บริหารตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนออกไปจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและยุโรปจะออกมาในรูปแบบใด

อย่างไรก็ดี ธนาคารยูบีเอสได้ทำการสัมภาษณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจาก 660 บริษัท ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม- 8 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกิดขึ้นตามมาหลังการทำประชามติของอังกฤษ

เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีสัดส่วนของบริษัทในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน จำนวนมากขึ้นที่มีแผนจะเพิ่มการลงทุน ขณะที่สัดส่วนของบริษัทในอิตาลีที่มีแผนเพิ่มการลงทุนมีลดลง

นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอสกล่าวว่า รู้สึกแปลกใจกับผลสำรวจที่ออกมา หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลง เนื่องจากคาดหมายว่าภาคธุรกิจจะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน "ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาของกลุ่มบริษัทในยูโรโซนอย่างน้อยในเบื้องต้นหลังจากการทำประชามติในอังกฤษไม่มีความรุนแรงมากนัก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เป็นบวก"

ขณะเดียวกัน การสำรวจจากสถาบันอื่นๆ ก็ให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันว่าประชามติของอังกฤษส่งผลต่อยูโรโซนในวงจำกัด การสำรวจประจำเดือนโดยคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่าบริษัทในยูโรโซนมองแนวโน้มธุรกิจดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่ไม่ได้มีการสอบถามถึงแผนการลงทุน ส่วนผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยไอเอชเอส มาร์คิต พบว่ากิจกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม

บันทึกการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อเดือนกรกฎาคมชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทางการของอีซีบีเชื่อว่าผลประชามติของอังกฤษได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจยูโรโซน แต่ทั้งนี้ต้องการรอจนกว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบในระยะสั้นของเบร็กซิทต่อภาคธุรกิจอยู่ในวงจำกัด ทำให้แรงกดดันต่ออีซีบีในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมครั้งหน้า คือเดือนกันยายนมีลดน้อยลง

อย่างไรก็ดี แนวโน้มระยะยาวของผลกระทบจากเบร็กซิทต่อเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงไม่มีความชัดเจน เนื่องจากการเจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างอังกฤษและอียูยังไม่เริ่มต้นขึ้น ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มองว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยูโรโซนจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากทางการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำประชามติเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของอิตาลี และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ 52% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจกับยูบีเอสกล่าวว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนถ้ามีความชัดเจนว่าอังกฤษจะออกจากอียู ขณะที่ 27% กล่าวว่าจะลดการลงทุนลงเล็กน้อย ส่วนอีก 9% กล่าวว่าจะลดการลงทุนลงอย่างมาก

การลงทุนที่อ่อนแอเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยการลงทุนในยูโรโซนเพิ่งกลับมาขยายตัวได้ในปี 2557

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559