รอช็อปLTFน้องใหม่ บลจ.จ่อขายดึงเงินฯ/มอร์นิ่งสตาร์ลุ้น 3 หมื่นล้าน

30 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
มอร์นิ่งสตาร์ คาดฤดูกาลลงทุนกองทุนแฝด LTF-RMF ปีนี้อืด ชี้กองทุน LTF ได้รับผลกระทบ 10-15% จากการปรับเงื่อนไขลงทุนเป็น 7 ปีปฏิทิน เดิมเงินไหลเข้าปีละ 3 หมื่นล้านบาท บลจ.เตรียมออกกองใหม่เสิร์ฟคนเสียภาษี ธนชาต ส่งกองทุนลงในหุ้นผันผวนตํ่าบลจ.กรุงไทยฯ เข็นน้องใหม่ครึ่งปีหลัง 1-2 กองแนะทยอยซื้อลงทุน เหตุกองทุนลดหย่อนภาษีต้องมองยาว

[caption id="attachment_91318" align="aligncenter" width="700"] มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม RMF และกองทุนรวม LTF มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม RMF และกองทุนรวม LTF[/caption]

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์กองทุนลดหย่อนภาษี 2 กองทุน คือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี่ยงชีพ(RMF )ในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งถือเป็นช่วงที่คึกคักกว่าครึ่งแรกว่า สำหรับปีนี้คาดว่าทั้งปีจะมีเม็ดเงินสุทธิไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 ประเภท ชะลอลงจากปีก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วเม็ดเงินสุทธิไหลเข้ากองทุน LTF เฉลี่ยต่อปีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกองทุน RMF เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1.8- 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในส่วนกองทุน LTF ยังมีผลกระทบจากการที่มีการปรับเงื่อนไขในการถือครองหน่วยลงทุนจากเดิม 5 ปี ปฏิทินให้เปลี่ยนเป็น 7 ปีปฏิทิน คาดว่าจะมีผลกระทบประมาณ 10-15% ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนกองทุน LTF น้อยลงไปเนื่องจากถูกบังคับให้ต้องลงทุนเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น

อย่างไรก็ดีในกรณีนี้ผู้มีเงินได้ควรมอง LTF ให้เหมือนเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ไม่ใช่มองในเรื่องของการลดหย่อนภาษีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะกองทุน LTF ในตลาดที่มีผลตอบแทนสูงก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างหากถือลงทุนในระยะยาว เนื่องจากผู้บริหารกองทุน LTF ต้องพยายามบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงให้เป็นไปตามเป้าหมายของกองทุน

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้บลจ.สามารถจัดตั้งกองทุนLTF กองใหม่ได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ส่งหนังสือเวียนตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น

ในส่วนของบลจ.ธนชาตฯ อยู่ระหว่างเตรียมออกกองทุนLTF กองใหม่ โดยเน้นนโยบายลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำ (Low Beta ) คาดว่าจะเปิดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้จากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวได้รับความนิยม และสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทน บนความผันผวนที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้สามารถจัดตั้งกองทุน LTF กองใหม่ได้ถือเป็นผลดีต่อบลจ. น้องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะเดิมทีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง LTF กองใหม่นั้นจบไปตั้งแต่ปี 2550 แล้วทำให้บลจ.เหล่านี้ ไม่มีทางเลือกกองทุนประหยัดภาษีให้กับผู้ลงทุน

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีบลจ.ธนชาตฯ มองว่า จะปรับขึ้นไม่มาก หลังจากปรับขึ้นมาแล้วกว่า 20% โดยคาดว่าจะเห็นดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,480-1,600 จุด และในสิ้นปีนี้อาจเห็นตลาดแกว่งขึ้นลงได้ตามตลาดโลก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทยฯ กล่าวว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนLTF ใหม่อีก 1-2 กองทุน นอกจากนี้จะนำกองทุนหุ้นที่มีอยู่แล้ว และผลงานดีนำมาเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน เช่น กองทุนเปิด กรุงไทย ซีเล็คทีฟ อิควิตี้ ฟันด์ (KTSE) ที่มีจุดเด่นคือ การบริหารกองทุนที่มีการบริหารจัดการแบบเชิงรุก เน้นการลงทุนในหุ้นรายตัว มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานดี รวมทั้งลงทุนในตราสารหนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด โดยกองทุนจะลงทุนในหุ้น จำนวนไม่เกิน 30 หลักทรัพย์ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 75 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน พร้อมทั้งมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยฯ เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทยฯได้ปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2559 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,550 จุด อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี เรโช) ที่ระดับ 16.5 เท่า ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่เคยตั้งไว้ตอนต้นปีอยู่ที่ระดับ 1,450-1,500 จุด

สำหรับมุมมองการลงทุนในระยะกลางถึงยาวตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ โดยผู้ลงทุนสามารถทยอยเข้าสะสมในหุ้นเพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนLTF และกองทุนRMF สามารถทยอยซื้อ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว พร้อมทั้งการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

มอร์นิ่งสตาร์ รายงานกองทุน LTF และ RMF ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(เอ็นเอวี) ที่ 2.93 แสนล้านบาท แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 5.86% เมื่อเทียบจากทั้งปี 2558 อยู่ที่ 2.77 แสนล้านบาท โดยบลจ.กสิกรไทยฯ และ บลจ.บัวหลวงฯยังคงเติบโตอันดับต้นๆ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดใกล้เคียงกันที่ 7.05 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กองทุน RMF เติบโตเล็กน้อยที่ 5.81% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.89 แสนล้านบาท เมื่อเทียบจากทั้งปี 2558 อยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท โดย บลจ.บัวหลวงฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 5.07 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยบลจ.กสิกรไทยฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.86 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559