‘บีเจซี’วางโรดแมปรุกรอบทิศ สู่ผู้นำผลิตบรรจุภัณฑ์อาเซียน

30 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
กลุ่มบรรจุภัณฑ์บีเจซี วางโรดแมป 3-5 ปีสู่ผู้นำธุรกิจในอาเซียน เสริมเครือข่ายธุรกิจต้นนํ้ายันปลายนํ้า ขึ้นแท่นรีจินัลคอมปานี ล่าสุดทุ่ม 2,000 ล้านเพิ่มกำลังการผลิตขวดแก้วรับการเติบโต

[caption id="attachment_91013" align="aligncenter" width="335"] ปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าว่าได้วางเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนตัวหรือเฟล็กซิเบล แพ็คเกจจิ้ง อาทิ แผ่นฟอล์ย สำหรับบรรจุขนมขบเคี้ยว ครีมอาบน้ำ อาหารทะเล เป็นต้น ซึ่งถือว่าบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ เป็นการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางกับบริษัทแม่ หรือบีเจซี ที่ต้องการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้แข็งแกร่ง และมุ่งไปสู่ความเป็นบริษัทผู้นำในภูมิภาค หรือ รีจินัลคอมปานี

ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทในเครือบีเจซีที่ดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์มีด้วยกัน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยมาลายากลาส จำกัด บริษัท มาลายา กลาสโปรดักส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในประเทศมาเลเซีย และบริษัท มาลายาเวียดนาม กลาส ลิมิเต็ด จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในประเทศเวียดนาม

อย่าวไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจในระยะ 3-5 ปี สำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งบริษัทมองหาโอกาสในการเพิ่มไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ยังไม่มี เพราะกลุ่มบีเจซีมีสินค้าหลายประเภทที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันใช้วิธีการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทต่อปี"

นายปฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับรูปแบบการลงทุนจะมีทั้ง 1. บริษัทลงทุนเองทั้งหมด 2. การซื้อและควบรวมกิจการ(เอ็มแอนด์เอ) และ 3. ร่วมทุนกับพันธมิตร โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาได้แก่ 1 .ระบบการผลิตมีมาตรฐาน 2.ขนาดธุรกิจที่เหมาะสมในการเข้าไปเริ่มดำเนินการ และ 3. มีฐานลูกค้าและผู้ประกอบการต้องมีประสบการณ์ ขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจาจะที่ซื้อกิจการบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท จำนวนหลายราย และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้อย่างน้อย 1 รายภายในปีนี้

"นอกจากการขยายธุรกิจภายในประเทศแล้ว บริษัทยังวางแผนขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศเพิ่มด้วย แต่จะเน้นการขยายธุรกิจในกลุ่มซีแอลเอ็มวีเป็นหลัก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการซื้อกิจการแพ็คเกจจิ้งในประเทศเวียดนาม และมองโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตขวดแก้วในเวียดนาม และมาเลเซียเพิ่ม" นายปฐพงศ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว มูลค่า2,000 ล้านบาท ด้วยการก่อสร้างเตาหลอมแห่งใหม่ที่โรงงานไทยมาลายากลาส จังหวัดสระบุรี ที่สามารถเริ่มการผลิตได้ในปลายปี 2560 โดยมีกำลัการผลิต 300 ตันต่อวัน จากปัจจุบันกลุ่มบีเจซีมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งสิ้น 2,700-2,800 ตันต่อวัน ซึ่งหลังจากเพิ่มไลน์การผลิตใหม่จะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 3,100 ตันต่อวัน ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 38% จากมูลค่าตลาดรวม 2.3 ล้านตันต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559