แตะเบรกพลังงานแสงอาทิตย์

29 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ประเทศไทยยังมะงุมมะงาหราอยู่เรื่องการผลิตไฟฟ้าว่าจะเดินไปทางไหน กำลังไฟฟ้าสำรองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ลดลงเป็นลำดับ ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมซึ่งหมายถึงทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกับโรงไฟฟ้าที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนยังพอไปกันได้ แต่หากดูในรายละเอียดก็อาจจะพบว่าเดี๋ยวนี้กำลังผลิตรวมของโรงไฟฟ้าเอกชนดูท่าจะแซงหน่วยงานรัฐไปแล้ว

ทุกวันนี้คนที่มีแนวความคิดก้าวหน้าก็พยายามผลักดันการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เราต้องพยายามหาพลังงานอื่นมาทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียม โดยเฉพาะหามาทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ครั้นจะหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จริงๆ จังๆ ก็เป็นเรื่องยาก หรือ "ไม่เวิร์ก" เพราะทำอย่างไรต้นทุนการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์หรือแม้แต่ลมก็ยังสูงกว่าพลังงานจากถ่านหินเป็นเท่าๆ ตัว ทุกวันนี้หน่วยงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมต้องดูแลไม่ให้ราคาซื้อขายไปกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องกดราคาจนผู้ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้ผู้ผลิตต้องมาโอดครวญว่าให้ราคาต่ำไป ทำแล้วไม่คุ้มกับการลงทุน กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมไป

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายประเทศในโลก ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเดือดร้อน เพราะนโยบายอุดหนุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ดี กำไรงามและขยายอาณาจักรของตัวเองออกไป แล้ววันนี้บางประเทศในยุโรปได้สั่งชะลอนโยบายดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือหากอุดหนุนแบบเดิมจะกระทบผู้บริโภคหนักไป และยังมีทางเลือกอื่นที่จะทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าได้ถูกกว่า จึงไม่ดันทุรังที่จะอุดหนุนการลงทุนต่อไปอีก

ประเทศไทยเรายังอยู่ในโหมดของการอุดหนุนและพยายามจะ "แตะเบรก" อยู่ แต่เสียงของผู้มีหัวก้าวหน้าก็ยังแซ่ซ้องให้อุดหนุนการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอย่างเต็มพิกัด ดูได้จากการเรียกร้องให้ปฏิรูปด้านพลังงาน เรียกร้องให้ออกกฎหมายส่งเสริมพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองใช้ไฟฟ้าในอัตราที่แพงเกินไปแล้ว

สำหรับผมแล้วคิดว่า รัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมและเท่าที่ทำอยู่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมแล้ว และต้องพยายาม "ย้ำเบรก" ไปเรื่อยๆ โดยอาศัยภาพรวมของราคาต่อหน่วยโดยรวมเป็นสำคัญ เราไม่ต้องรีบร้อนผลักดัน เพราะการส่งเสริม ณ เวลานี้ก็หมายถึงผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการที่ทำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ขณะเดียวกันรัฐจะไม่มองด้านพลังงานทั้ง 2 อย่างนี้ก็ไม่ได้ ที่ว่า ไม่ได้ไม่ใช่ว่าเราไม่ทันกระแสโลก แต่เราต้องเกาะติดเพื่อเรียนรู้และพัฒนาในโอกาสต่อๆ ไป หรือรอจนกว่าจะแน่ใจว่าโลกได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ไปถึงระดับที่น่าพอใจแล้ว หมายถึงพัฒนาจนต้นทุนการผลิตต่ำลงในระดับที่น่าพอใจ นั่นล่ะรัฐจึงควรจะให้การอุดหนุนเพิ่มเติม

สมัยก่อนที่โลกจะค้นพบปิโตรเลียม ทั่วโลกก็อาศัยพลังขับเคลื่อนจากไขสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลหรืออาศัยไขของ "วาฬ" เกิดอุตสาหกรรมการล่าครั้งใหญ่เพื่อเอาไขของวาฬมาใส่หม้อตะเกียง หรือไม่ก็ใช้เทียนไข เพื่อให้แสงสว่างก่อนที่มนุษย์จะรู้จักการใช้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้า

ทุกวันนี้โลกก็ยังอาศัยพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากไม่นับรวมพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะใช้เป็นพลังขับเคลื่อนเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องบิน หรือแม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เราใช้กัน ที่เราเลือกใช้พลังงานปิโตรเลียมก็เพราะหาได้จากธรรมชาติ มีปริมาณล้นหลาม และราคาถูก ที่ว่าแพงเกินไปก็เพราะต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งความร่อยหรอลงไปของปิโตรเลียมที่มีอยู่ในโลก อีกทั้งการปั่นราคาจากนักเก็งกำไร ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหาทางเลือกใหม่ หันมาสนใจพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงานหมุนเวียน แต่วันนี้ประเทศไทยยังจำเป็นต้อง "แตะเบรก" การอุดหนุนพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า แล้วหันไปใช้พลังงานถ่านหินซึ่งมีอยู่มากและราคาถูก ภายใต้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559