คดีขายหนี้เน่า 56ไฟแนนซ์ปี40 รอลงอาญา 3 ปี‘อมเรศ-วิชรัตน์’

29 ส.ค. 2559 | 13:30 น.
ศาลฎีกาพิพากษาปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี“อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธานปรส.และ “วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ” อดีต เลขาฯเหตุประมูลขายสินทรัพย์ปี 40 ด้าน “มนตรี”แจงยิบศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น เหตุจนท.ลงเอกสารผิดเป็น “เงินมัดจำ” ทำให้ตีความปรส.ไม่ได้เรียกเก็บเงินงวดแรกและประเด็นความเชื่อเรื่อง “ฮั้วประมูล”

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ อ.3344/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) , นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ผู้รับประโยชน์ บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ที่ปรึกษา ปรส. กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้ง กองทุนรวมโกลบอลไทยฯ เป็นจำเลยที่ 1 – 6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ทั้งนี้ นายอมเรศ อดีต ประธานปรส. ได้เดินทางมาพร้อมบุตรชายและทนายความ โดยมีนายวิชรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปรส. เดินทางมาฟังคำพิพากษาดังกล่าว

สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ระบุความผิดสรุปว่า (เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. - 1 ต.ค. 41) นายอมเรศ จำเลยที่ 1ในฐานะประธาน ปรส. มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์เน่า) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 โดยคณะกรรมการ ปรส. มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 (เมื่อ 18มิ.ย.41)และวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 ปรส. และบริษัท เลแมน บราเดอร์สฯ จำเลยที่ 3ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 กันยายน 2541

แต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ปรส.มีมติให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 กรกฎาคม ไปเป็นวันที่ 13 สิงหาคมแทน โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนั้น ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการโดยให้ผู้เสนอราคา สามารถเสนอราคาโดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่ายแล้วบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 รายโดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกันเป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยบริษัทจำเลยที่3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส.จึงมีมติให้จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7วันนับจากวันที่ 20 สิงหาคม2541 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท แต่วันที่ 20 สิงหาคมเป็นวันครบกำหนดจำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรก

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา(17ก.ย.55)ว่า จำเลยที่ 1-2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ส่วนการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่ง ปรส.มีหน้าเพียงการซื้อขายสินทรัพย์ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 1-2 เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปรส. และต่อมาได้มีการชำระเงินเต็มจำนวนจากการประมูลสินทรัพย์ให้แก่ ปรส.จนครบถ้วนแล้ว จึงพิพากษาให้จำคุก จำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท

ขณะที่ศาลเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสอง เคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายกำหนด 1 ปี พร้อมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 3-6 ให้ให้ยกฟ้อง จากนั้นนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 โดยภายหลังอัยการโจทก์ ได้ยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ต่อเรื่องนี้ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานปรส. กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนร่วมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและปรส. หลังจากนี้จะบอกลูกหลานถ้าจะทำอะไรให้ส่วนร่วมต้องคิดให้ดี เพราะทำให้ส่วนร่วมแล้วถูกลงโทษจะคุ้มหรือไม่

ด้านนายมนตรี เจนวิทย์การ อดีตเลขาธิการปรส.กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จากมูลเหตุกรณีการไม่เรียกเก็บเงินงวดแรกในการขายสินทรัพย์ให้กับบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์อิงค์ฯ จำนวน 2,304 ล้านบาท ว่า ตามข้อเท็จจริง เงินดังกล่าวเป็นเงินที่ปรส.ได้รับชำระงวดแรก 20 % ( ตามเงื่อนไขในสัญญาจ่ายชำระค่าประมูลและงวดสุดท้ายอีก 30% แต่เจ้าหน้าที่ได้ลงในเอกสารผิด ระบุเป็น"ค่ามัดจำ"

"หากตีความว่าเป็นค่ามัดจำจริง ก็ต้องหมายความว่า ปรส.ต้องจ่ายคืนในภายหลัง แต่ในข้อเท็จจริงกรณีนี้ปรส.เป็นฝ่ายรับจากการชำระค่าประมูลงวดแรก และเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะยังไม่มีการโอนสินทรัพย์ เราก็ได้เงินก้อนแรกมาแล้ว แต่กฎหมายกลับตีความโดยให้น้ำหนักเอกสารมากกว่าพยานบุคคลและตีความว่าความผิดสำเร็จแล้ว"

อย่างไรก็ดี น้ำหนักที่ศาลฎีกาพิพากษา เชื่อว่าน่าจะเป็นประเด็นหลังมากกว่า กล่าวคือการที่ปรส.ประมูลขายให้บริษัทในเครือ "เลแมน บราเดอร์ส"คือ "บริษัท เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส อิงค์" ทั้งที่เลแมนบราเดอร์ส์ " เป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับการประมูลครั้งนี้ จนตีความว่าอาจมีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่การประมูลขายสินทรัพย์ของปรส.ยึดหลักแนวทางตามสากล เช่นเดียวกับนานาประเทศ เช่นการประมูลขายสินทรัพย์ในอินโดนีเซีย ที่ผู้ซื้อก็เป็นบริษัทในเครือของบริษัทที่เป็นที่ปรึกษาการประมูล เพราะในต่างประเทศ บริษัทส่วนใหญ่จะตั้งในรูป"บริษัทโฮลดิ้ง "บางบริษัทมีเครือเป็นร้อยๆแห่งด้วยซ้ำ

"ปรส.ยืนยันว่าแม้จะเป็นบริษัทในเครือแต่เอกสารอยู่ในห้องประมูลที่ไม่มีใครล่วงรู้ได้ แม้แต่เลขาธิการปรส. และผู้ชนะประมูลในครั้งนั้นก็ยังเสนอราคาทิ้งห่างอันดับ 2 กว่า 2 พันล้านบาท ยิ่งเป็นการยืนยันชัดว่าไม่มีการฮั้วประมูลแน่นอน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559