สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ช่องชิงตลาดเออีซี แนะสรรหาโอกาสเจาะชนชั้นกลางฐานกำลังซื้อที่ขยายตัว

29 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยแนะผู้ประกอบการมองหาชนชั้นกลางฐานกำลังซื้อสำคัญในเออีซี พลิกสร้างโอกาสทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ขณะที่ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตดีสุด จากปัจจัยบวกด้านค่าแรงและเสถียรภาพทางการเมือง

[caption id="attachment_90521" align="aligncenter" width="335"] จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จริยา จิราธิวัฒน์
ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย[/caption]

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในระหว่างการเปิดงานแสดงสินค้านวัตกรรมเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติเพื่อธุรกิจค้าปลีกระดับอาเซียน (RetailEX ASEAN 2016) ว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดผลดีทั้งในการของการลงทุน การบริการ และการเกิดสินค้าใหม่ๆจากผู้ประกอบการในแต่ละประเทศแล้วยังส่งผลให้ศักยภาพของกลุ่มประเทศในการแข่งขันนั้นสูงขึ้น เนื่องมาจากจำนวนประชากรของเออีซีรวมกันมากเป็นลำดับ 3 ของโลกเป็นรองเพียงจีน และอินเดียเท่านั้น ขณะที่หากเปรียบข้อได้เปรียบด้านแรงงานของภูมิภาคอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ภูมิภาคอื่น พบว่าเมื่อเทียบจีดีพีกับความได้เปรียบด้านแรงงานภูมิภาคอาเซียนถือว่าอยู่อันดับ 7 ของโลก

ขณะที่เป้าหมายปี 2563 ของภูมิภาคอาเซียน คือการวางเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและการเติบโตแบบรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวของสภาพเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตเป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของชนชั้นกลางที่เติบโตแบบรวดเร็วจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจของเอซี นีลเส็น พบว่าอัตราการเติบโตของชนชั้นกลางจะสูงถึง 110% ภายในปี 2563

"อยากให้มองการเปิดเออีซีที่มีขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องฝ่าฟัน เพื่อเข้าไปให้ถึงโอกาสทางการเติบโตของธุรกิจมากกว่าไม่อยากให้มองเป็นอุปสรรค ซึ่งมองเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งจากการเติบโตของชนชั้นกลางที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทางด้านรีเทลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั่นเองที่เป็นโอกาสสำคัญของการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกของผู้ประกอบการทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่น"

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศเวียดนามถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพทางการเติบโตของของเศรษฐกิจกอปรกับจำนวนประชากรที่สูงถึง 93 ล้านคน (เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ทำให้เวียดนามกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าลงทุน ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องของต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า รวมถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามมีการเติบโตสูง โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2554 กับ 7 กลุ่มธุรกิจหลักทั้งแฟชั่น กีฬา ศูนย์การค้า คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งผลให้เกิดการจ้างงาน 1.5 หมื่นราย และมีหน้าร้านอยู่ที่ 150 ร้านค้า

"ต้องบอกว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งในประเทศเดียวกัน ยกตัวอย่างเวียดนามพฤติกรรมการชื่นชอบแบรนด์ของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ก็แตกต่างกันแล้ว โดยประชาชนในกรุงฮานอยจะมีความชื่นชอบสินค้าแบรนด์มากกว่า โดยยินดีที่จะจ่ายเงินหากชื่นชอบ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงโฮจิมินห์ มีความชื่นชอบแบรนด์แต่เป็นเรื่องของประโยชน์ของการใช้งานมากกว่าหากจะต้องจ่ายเงิน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นอีกโจทย์ที่ต้องมีการศึกษาและเข้าใจ"

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของเออีซีถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก (รีเทล)ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ที่จะสามารถขยายเข้าไปในประเทศอื่นเพิ่มขึ้น โดยมองว่าส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้แก่ 1.เรื่องของความยากง่าย และข้อกฎหมายในการทำธุรกิจ 2.ต้นทุนของการทำธุรกิจ และ 3.พฤติกรรมของผู้บริโภค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559