วท.ผนึกไอซีทีขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพอีสานเชื่อมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

27 ส.ค. 2559 | 11:30 น.
ภายหลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ที่กรุงเทพและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์แอนด์ดิจิตัลไทยแลนด์ สู่ภูมิภาค ที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันยที่ 26-28 สิงหาคม 2559  โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้แทนจากประเทศเวียดนาม เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เน้นถึงการเชื่อมโยงประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง หรือ แม่โขงคอนเน็ก  เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันวันนี้ประเทศไทย กำลังขยายฐานเศรษฐกิจด้วยการหลอมรวม สตาร์ทอัพ นวัตกรรม และดิจิตัลเข้าด้วยกัน ทำให้มีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จากการพบปะกับสตาร์ทอัพทั้งในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ฯครั้งนี้และจากการเยี่ยมชม โคเวิร์กกิ้งสเปซ ที่ใช้ชื่อว่า จั๊มสเปซ แล้ว ทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ขยายผลเข้าสู่วิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการเป็นสตาร์ทอัพรุ่นต่อไป ซึ่งตนได้ฝากให้ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้ทำหลักสูตรให้เข้มข้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเปิดความคิดสร้างสรรค์เมื่อจบออกมาได้เป็นสตาร์ทอัพได้ทันที เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า ทุกคนสามารถเป็นสตาร์ทอัพได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกเถ้าแก่ รัฐบาลเองก็ทยอยออกมาตรการมาสนับสนุน พร้อมกันนี้ก็ได้กำชับว่าให้หาอัตตลักษณ์ของภาคอีสานให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นธุรกิจในกลุ่มที่ต้องแข่งขันกันเองในแต่ละภูมิภาค

ด้านดร.อุตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ตนและ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นคู่หูสตาร์ทอัพดิจิตัล ที่ต้องจับมือกันไปอีกนานเนื่องจากงานของทั้งสองกระทรวงต้องเชื่อมโยงเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพื่อก้าวทันในเวทีโลก เราปฏิเสธโลกดิจิตัลไม่ได้ก็ต้องใช้อย่างสร้างสรร วันนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงเพื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพในกลุ่มประเทศเหล่านี้เข้มแข็งและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน