‘โอสถสภา’เข้าตลาดหุ้นปี60ติดปีก4ธุรกิจ

26 สิงหาคม 2559
โอสถสภา บริษัทเก่าแก่อายุ 125 ปี สลัดธุรกิจครอบครัว ปรับโครงสร้างองค์กรระดมทุนในตลาดหุ้นเสริมแกร่ง 4 ธุรกิจ ดังมือดีจากยูนิลีเวอร์ เสริมทัพ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยใช้เวลาจีบ 10 ปี คาดระดมทุนต้นปี 2560 มาร์เก็ตแคปหลังไอพีโอ 5-6 หมื่นล้านบาท ตั้งที่ปรึกษา 2 ราย บล.ภัทร –บัวหลวง วงการที่ปรึกษาทางการเงินวิเคราะห์ มูลค่าตลาดสูงกว่าคาราบาวแดง 5 เท่า

[caption id="attachment_89781" align="aligncenter" width="700"] อาณาจักรโอสถสภา อาณาจักรโอสถสภา[/caption]

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กลุ่มบริษัท โอสถสภา จำกัด มีแผนจะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ช่วงต้นปี 2560 จากเดิมที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในปลายปีนี้ สาเหตุที่ขยายเวลาออกไป เนื่องจากติดปัญหาเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่

ทั้งนี้กลุ่มโอสถสภาจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)หลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป(ไอพีโอ)เป็นมูลค่าที่สูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของโอสถสภา ถือเป็นความสำเร็จของตลท.หลังจากใช้เวลาในการทาบทามมากว่า 10 ปี

มีรายงานข่าวช่วงปลายปี 2557 โอสถสภามีแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ วงเงิน 6,400 - 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 - 2559 และก่อนหน้านั้น โอสถสภา ได้ปรับโครงสร้างองค์กรโดยแต่งตั้ง นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพื่อก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น เงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือ ซึ่งมี 4 กลุ่ม

"บล.บัวหลวง-ภัทร" ที่ปรึกษา

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง จำกัด(มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า บล.บัวหลวงฯ และบล.ภัทรฯ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการนำโอสถสภา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และจัดโครงสร้างธุรกิจ

ส่วนจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั้น ไม่สามารถบอกได้ เช่นเดียวกับจำนวนหุ้นไอพีโอ ที่ไม่สามารถบอกได้เช่นเดียวกัน

จับตากลุ่มเครื่องดื่ม

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน แสดงความเห็นว่า โอสถสภาถือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้ที่ปรึกษาทางการเงินรายใหญ่ คือ บล.ภัทรฯ ซึ่งมีพันธมิตรด้านงานวิจัยหลักทรัพย์และธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศด้วย

"น่าจับตาว่าโอสถสภา จะดันธุรกิจอะไรเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังก็มีมูลค่ามากกว่าคาราบาวแดงถึง 5 เท่า " แหล่งข่าวกล่าวและว่า

อีกสาเหตุที่คาดว่าโอสถสภา ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ อาจเนื่องมาจาก บมจ. คาราบาวกรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้แบรนด์ "คาราบาวแดง" ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 รองจาก M-150 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งได้ระดมเงินทุนกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งการขยายธุรกิจเพิ่มเติม

อนึ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ณ เดือนมิถุนายน 2559 มีมูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท โดย 3 อันดับแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดดังนี้ เอ็ม 150 มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 57.7 % อันดับ 2 คาราบาวแดง 21.1 % ส่วนอันดับ 3 กระทิงแดง มีส่วนแบ่งตลาด 16.3 %

ดึง 2 มือดียูนิลีเวอร์เสริมทัพ

แหล่งข่าวจากกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ได้เห็นความเคลื่อนไหวการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัท โอสถสภา ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับระบบภายในองค์กรโดยเฉพาะระบบการเบิกจ่ายงบประมาณ และระบบบัญชีภายในที่มีความรัดกุมมากขึ้น จากเดิมที่สามารถยืดหยุ่นการเบิกจ่ายระหว่างซัพพลายเออกับบริษัท คาดว่าเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีสำหรับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 โอสถสภา ได้แต่งตั้งนางวรรณิภา ภักดีบุตร รองประธานกรรมการบริหารด้านผลิตภัณฑ์ความงาม ดูแลแบรนด์สินค้าส่วนบุคคลในเครือยูนิลีเวอร์ ที่ทำงานนานเกือบ 30 ปีให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อเป็นผู้นำทีมบริหารให้บรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจของโอสถสภา สำหรับสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับโอสถสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดึงนางกรรณิกา ชลิตาภรณ์ ที่เคยทำงานที่เครือยูนิลีเวอร์นานถึง 32 ปี กับตำแหน่งสุดท้ายรองประธานและกรรมการอำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล และเคยทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นานกว่า 10 ปี มาดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท โอสถสภาฯ ด้วย

เปิดอาณาจักร 4 กลุ่มธุรกิจ

ปัจจุบันบริษัท โอสถสภาฯ มี 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและลูกอม มีสินค้า อาทิ เครื่องดื่มแบรนด์เอ็ม 150 ลิโพวิตัน-ดี ฉลาม เอ็มสปอร์ต และลูกอมโอเล่ เป็นต้น

2. ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล มีสินค้า อาทิ แบรนด์เบบี้มายด์ ทเวลฟ์พลัส และยูทิป เป็นต้น

3. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีสินค้า อาทิ ลูกอมโบตัน แบนเนอร์ และทัมใจ เป็นต้น

และ 4. ผลิตภัณฑ์ตลาดในต่างประเทศ มีสินค้า อาทิ เครื่องดื่มฉลาม และเอ็ม- 150 เป็นต้น สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ถือว่าทำรายได้สูงสุดจะเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มและลูกอม และกลุ่มสินค้าส่วนบุคคล

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2558 มีรายได้รวมกว่า 3.20 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 2,336 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวมกว่า 3.16 หมื่นล้านบาท กำไรกว่า 1,534 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้รวมกว่า 2.81 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 771 ล้านบาท ปี 2555 มีรายได้รวมกว่า 2.57 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 488 ล้านบาท และปี 2554 มีรายได้รวมกว่า 2.29 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 611 ล้านบาท

โอสถสภา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2434 จากร้านขายของเบ็ดเตล็ด ในชื่อ เต็กเฮงหยู โดยตระกูลโอสถานุเคราะห์ มีอายุรวม 125 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559