สินค้าไม่มีมอก. ระบาดหนัก 10 เดือนจับได้มูลค่า 3.3 พันล้าน/สมอ.เร่งออกมาตรฐานใหม่

26 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
สมอ.เผย 10 เดือน พบผลิตภัณฑ์สินค้าไม่ได้มาตรฐาน 143 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สีและเครื่องกล ชี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าและหลีกเลี่ยงการขอมอก. เร่งหาทางแก้จับมือร้านค้าจำหน่ายแต่สินค้ามีมอก.ตั้งเป้า 5 ปี 1 หมื่นแห่ง พร้อมเร่งปรับปรุงแผนแม่บทออกมาตรฐานรองรับ10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่สมอ.ติดตามตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าต่างๆ ในช่วง 10 เดือน ปีงบประมาณ 259 (ตุลาคม 2558-กรกาคม 2559) พบว่า มีผู้กระทำผิดนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) จำนวนมาก จากที่เข้าตรวจสอบจำนวน 1,653 ครั้ง สามารถยึดหรือายัดผลิตภัณฑ์คิดเป็นมูลค่าได้ราว 3,374 ล้านบาท ในจำนวน 317 ราย 143 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เช่น เป็นสินค้าเหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นหนา แผ่นบาง สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สีและเครื่องกล(ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ การที่สามารถตรวจจับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีมอก.ยังสูงอยู่นี้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์บังคับ ที่ผู้ประกอบการจะต้องมาขอใบรับรองมอก. แต่มีผู้ผลิตบางรายหลบเลี่ยงหรือนำเข้ามาจำหน่ายโดยไม่มีการขอใบรับรอง เพราะเกรงว่าจะเสียเวลานานในการออกใบรับรอง และนำไปจำหน่ายยังผู้บริโภค ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการใช้สินค้านั้นๆ แม้ว่าที่ผ่านมาสมอ.จะส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้มงวดตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถปราบปรามให้หมดลงได้

ดังนั้น กระบวนการหนึ่งที่จะมาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับสมอ.ในการตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ จึงได้จัดทำโครงการร้านมอก. เพื่อให้ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใส่ใจในความปลอดภัยของผู้บริโภคเลือกและจำหน่ายสินค้าที่มีมอก.เท่านั้น โดยได้เปิดรับสมัครร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นสิงหาคมเป็นต้นมา และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายนนี้ ซึ่งปัจจุบันมีโมเดิร์นเทรดเข้าร่วมแล้วจำนวน 5 ราย จำนวน 431 สาขา เช่น สยามแม็ดโคร โลตัส โฮมโปร ซีอาร์ซี ไทวัสดุ เป็นต้น โดยสมอ.ตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปี(25592563) จะมีร้านมอก.นี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นสาขา โดยหวังว่าจะทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานลดน้อยลงไปหรือแทบจะไม่มีการจำหน่าย

นายธวัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการรองรับมาตรฐานสากล ทางสมอ.จะมีการปรับแผ่นแม่บทในการกำหนดมาตรฐานมอก.ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานมอก.ครอบคลุมการดำเนินงานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ที่จะมาตอบโจทย์ผู้สูงอายุและคนพิการ อุตสาหกรรมการบินโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภัณฑ์ ที่จะมารองรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบราง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกล และอิเล็กทรอนิกส์ ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการขอใบรับรองมอก.มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงได้ปรับปรุงกระบวนการขอมอก. สำหรับมาตรฐานทั่วไปลงเหลือ 250 วัน จากเดิม 315 วัน และมาตรฐานบังคับ ลงเหลือ 180 วัน จากเดิม 445 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยหลบเลี่ยงการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานลดลงด้วย โดยในช่วง 10 เดือนปีงบประมาณที่ผ่านมา สมอ.ได้มีการออกใบรับรองมาตรฐานมอก.ไปแล้วจำนวน 5,904 ฉบับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559