สัญญาณอันตราย (ตอนที่ 7)

25 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ภาพลักษณ์ของ "ซีทีเอช" ดูเหมือนจะแข็งแกร่ง ทั้งจากคอนเทนต์ที่หลากหลายจากกีฬา ภาพยนตร์ไทย/เทศ ซีรีย์ดัง และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงฐานลูกค้าที่มีมากกว่า 3.5 ล้านราย

แต่ทันทีที่ประกาศ ยุติการให้บริการช่องรายการ Z PAY TV ที่ให้บริการผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z ซึ่งบริหารโดยบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด (GMMB) หนึ่งในเครือซีทีเอช ที่เข้าซื้อกิจการต่อจาก GMM ถูกเผยแพร่ออกไป สร้างความฉงนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุนหนารายนี้

แม้เบื้องต้นจะเป็นการระงับการเติมเงินจากผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2559 แต่การยุติบริการถ่ายทอดช่องรายการ Z PAY TV ผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกอย่างมาก และความไม่พอใจเหล่านี้ก็พุ่งตรงไปยัง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จนถึงขั้นที่แกรมมี่เอง ต้องออกมาชี้แจงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"Z PAY TV ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ GMM B นั้นเป็นบริษัทในเครือของ CTH ที่แกรมมี่ขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท ซีทีเอช แอลซีโอ จำกัด (CTH LCO) ไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 แล้ว"ถือเป็นสัญญาณอันตรายแรกของ CTH
ก่อนที่ซีทีเอช จะประกาศยกเลิกการส่งสัญญาณผ่านกล่องรับสัญญาณซันบ็อกซ์ ทั้งการถ่ายทอดสดช่องรายการฟุตบอลบาร์เคลย์ พรีเมียร์ลีก (ช่องสเตเดียม 1-5,ช่องสเตเดียมเอ็กซ์) และช่องรายการอื่นๆ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป

แน่นอนว่า อาร์เอส ในฐานะเจ้าของกล่องรับสัญญาณซันบ็อกซ์ไม่ยินยอม และเรียกร้องให้ซีทีเอชปฏิบัติตามสัญญาที่ได้กระทำไว้ แต่ก็ไม่สามารถกดดันอะไรซีทีเอชได้

ในเวลาใกล้เคียงกัน หวยก็มาตกที่ PSI เมื่อซีทีเอช ประกาศผ่านเว็บไซต์ ใจความสั้นๆ ว่า "ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.59 CTH จะยุติการให้บริการรับชมช่องรายการผ่านกล่องรับสัญญาณ PSI สามารถติดต่อขอรับสิทธิชดเชยพิเศษได้ที่ Call Center 1619 และ 1629"

ส่งผลให้บรรดาสมาชิกกล่องทีวีดาวเทียมต่างๆ ไม่สามารถรับชมเนื้อหารายการต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่เสียเงินไปแล้ว
สัญญาณอันตราย! เริ่มเห็นเด่นชัด เมื่อพันธมิตรต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

เดือดร้อนถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสท.) ที่ต้องเร่งลงมาไกล่เกลี่ย เรียกให้ซีทีเอช หามาตรการเยียวยาให้กับสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบ และแม้ซีทีเอช จะนำเสนอทางออกด้วยการจ่ายเงินค่าแพ็คเกจที่เหลืออยู่ให้กับสมาชิก แต่สมาชิกก็ไม่ยินยอม และต้องการให้รับซื้อกล่องรับสัญญาณคืนพร้อมกับชดเชยเป็นเงินที่เหลืออยู่ ทำให้กลายเป็นข้อพิพาก และแผนเยียวยาที่ไม่ลงตัว เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

ที่สุดแล้ว กสท. เปิดไฟเขียวให้ซีทีเอชนำเสนอแผนเยียวยาได้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสมาชิก หากไม่กระทำตามก็มีบทลงโทษ แต่ที่สุดแล้วซีทีเอช จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559