ประมงขย่มเลิกส่งออกปลาป่น อ้างเหตุทำลายล้างทะเล/อีกฝ่ายจ่อฟ้องเอาผิดกรมประมง

24 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
“วิชาญ” ฟ้องเอาผิด กรมประมง หลัง “ฉัตรชัย” รับข้อเสนอประมงพื้นบ้านปลดบ่วงทำประมงนอกชายฝั่งได้ ระบุ ผิดมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ประมงพื้นบ้าน ได้ทีขย่มอุตสาหกรรมปลาป่น แนะเลิกส่งออก ระบุสร้างแรงจูงใจชาวเลใช้เครื่องมือทำลายล้างสูง ขณะนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยเชียร์เห็นด้วย ด้านนายกปลาป่น ยันเป็นแค่ปลายทางไม่เกี่ยว

[caption id="attachment_88884" align="aligncenter" width="700"] 5 จังหวัดที่มีเรือทำประมงสูงสุด 5 จังหวัดที่มีเรือทำประมงสูงสุด[/caption]

นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกทางสมาคมเข้าไปพบเพื่อรับฟังปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ รวม 16 หัวข้อ เพื่อนำไปสู่การออกกฎกระทรวง หรือออกกฎหมายลูกของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558

โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญที่หารือกันในครั้งนี้คือ คำจำกัดความของคำว่า ชาวประมงพื้นบ้าน หรือประมงขนาดเล็ก หรือประมงชายฝั่ง ที่ควรพิจาณาจากเจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเป็นผู้ทำประมงเอง และใช้จำนวนแรงงานไม่เกิน 5 คน เป็นบุคคลในท้องถิ่น ที่สำคัญไม่ควรจำแนกชาวประมงพื้นบ้าน/ประมงขนาดเล็ก ออกจากประมงพาณิชย์ โดยจำกัดขนาดเรือไม่เกินหรือต่ำกว่า 10 ตันกรอสเพียงอย่างเดียว รวมทั้งรับฟังเหตุผล การยกเลิก มาตรา 34 ที่ห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกทำการประมงนอกเขตประมงชายฝั่งเด็ดขาด พร้อมกำหนดโทษหนัก ซึ่งทางรัฐมนตรีก็เห็นด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของประเทศ เนื่องจากความยุ่งยากการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยที่ทะเบียนเรือต้องจดกับกรมเจ้าท่าและใช้ระเบียบเดียวกับเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาทิ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตท้ายเรือ และใบทะเบียนเรือ สร้างความยุ่งยากซับซ้อนจึงเสนอให้มีการปรับปรุงแยกออกจากระบบ และมอบอำนาจการจดทะเบียนแบบเบ็ดเสร็จของเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กให้กรมประมงเพียงหน่วยงานเดียว จากนั้นก็ให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น

นายสะมะแอ ยังเสนออีกว่า สำหรับการจดทะเบียนเรือและใบอนุญาตปีแรกขอให้งดเว้นค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมแรงจูงใจ ให้ชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดเข้าสู่ระบบ และให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรวบรวมสัตว์น้ำรายย่อยในพื้นที่ (แพปลาหมู่บ้าน) และให้ผู้ประกอบการแพเป็นผู้จัดทำระบบ/เก็บข้อมูลผลผลิตสัตว์น้ำแทนชาวประมงพื้นบ้าน เนื่องจากแพมีศักยภาพทำเป็นปกติอยู่แล้ว ที่สำคัญเสนอให้ยกเลิกการส่งออกปลาป่น เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้จับปลาเพื่อมาทำปลาป่นมีตาอวนขนาดเล็กทำลายสัตว์น้ำอย่างรุนแรง เห็นว่าการส่งออกได้ไม่คุ้มเสีย

สอดคล้องกับนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีการยกเลิกปลาป่นส่งออก โดยพิจารณาจากข้อมูลของกรมประมงเมื่อปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานปลาป่นกระจายอยู่ใน 22 จังหวัดที่อยู่ติดทะเลรวม 76 แห่ง มีงานวิจัยระบุว่า ในปลาป่นทั้งหมดมีลูกปลาเศรษฐกิจปะปนอยู่มากกว่า 30% และที่สำคัญในขณะนี้พัฒนาถึงขึ้นโรงงานมารับปลาที่ท่าเทียบเรือแล้ว ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ชาวประมงมีการทำลายล้างทรัพยากรมากขึ้น

ด้านนายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตปลาป่นได้ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี และใช้เองภายในประเทศเกือบทั้งหมด มีประมาณ 10 %เท่านั้นที่ส่งออก โดยราคาปลาป่นในประเทศ จะถูกกำหนดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่มาโดยตลอด เพราะเป็นผู้ใช้ปลาป่นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการใช้ทั้งประเทศ และวันนี้ซีพีประกาศที่จะไม่ซื้อปลาป่น จากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีโรงงานปลาป่นเพียง 2 โรงเท่านั้นได้มาตรฐานสหภาพยุโรป (อียู)

"ขอตั้งคำถามว่าหากยกเลิกส่งออกใครเดือดร้อน ชาวประมงจับปลาแล้วจะไปขายใคร ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาหรือไม่ ที่สำคัญอุตสาหกรรมปลาป่นเป็นแค่ปลายทาง จะทำลายล้างทะเลไทยได้อย่างไร"

ขณะที่นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยว่า ในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 จะเดินทางไปแจ้งความเพื่อเอาผิดกรมประมง ในข้อกล่าวทำผิด มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของกรมประมง จะต้องกำหนดกรอบ และวิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่มีหน้าที่ไปยกเลิกกฎหมาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559