Hong Kong Smart City เมืองแห่งระบบอัจฉริยะ

24 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ฮ่องกงเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ามีพัฒนาการด้านเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและด้าน ICT ที่ดีแห่งหนึ่งในโลกและสามารถเกาะกระแสการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง ฮ่องกงพัฒนาระบบการค้าขายออนไลน์ (e-commerce) รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ให้มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2556 นิตยสาร Forbes ได้จัดให้ฮ่องกงเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีชั้นนำที่น่าจับตามองรองจาก Silicon Valley และนครนิวยอร์ก Smart city หรือเมืองอัจฉริยะเป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตอลหรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการบริการชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

[caption id="attachment_89079" align="aligncenter" width="500"] smartcity smartcity[/caption]

การพัฒนาสมาร์ทซิตีมีการพัฒนาในหลายภาคส่วนรวมถึง หน่วยงานราชการ การจราจรและขนส่ง พลังงาน สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อพัฒนาการจัดการชุมชนเมืองที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการใช้งานได้ในแบบทันท่วงที
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) ขอแนะนำบทความจากนิตยสาร Hong Kong Industrialist ที่ได้สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับฮ่องกงในฐานะเมืองอัจฉริยะตามการสรุปรายงานของหน่วยงาน Central Policy Unit ของรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งแบ่งออกเป็นหัวข้อสำคัญ ดังนี้

1. Smart Economy ตัวอย่างที่โดดเด่นของฮ่องกงในการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอัจฉริยะสำหรับชุมชนเมือง ได้แก่ การใช้จ่ายผ่านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-commerce คือระบบบัตรใช้จ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตร Octopus ที่สามารถใช้ชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ภายในจำนวนเงินที่ผู้ใช้ได้เติมเข้าไปในบัตร โดยสามารถใช้เพื่อชำระค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ชำระค่าที่จอดรถ หรือแม้แต่ใช้ชำระค่าธรรมเนียมในโรงพยาบาลและโรงเรียนได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีจำนวนบัตรเติมเงิน Octopus ประมาณ 28 ล้านใบ มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าวกว่า 13 ล้านครั้งต่อวัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง นอกจากนี้ บัตรเติมเงิน Octopus ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ธนาคาร ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม Alipay และ Taobao เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันกับบริการอื่น ๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรโทรศัพท์ รวมถึงการชำระเงินออนไลน์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บริการการชำระเงินแบบ one stop e-payment บริการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และบริการการชำระเงินทางโทรศัพท์ก็มีการพัฒนาในฮ่องกงเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลฮ่องกงจึงได้จัดอบรมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ธุรกิจของกลุ่ม SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ ICT ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

2. Smart Mobility หน่วยงาน Transport Department ฮ่องกงได้พัฒนาระบบควบคุมจราจรอัจฉริยะ อาทิ Area Traffic Control Systems ที่สามารถควบคุมไฟสัญญาณจราจรต่าง ๆ ผ่านระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิดได้ในทันที รวมทั้งระบบ Hong Kong eRouting และ Hong Kong eTransport ที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางจราจรสำหรับผู้ใช้รถและถนนได้ อีกทั้งยังมีระบบอัจฉริยะในรูปแบบของแอพพลิเคชันของสมาร์ทโฟนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรโดยผู้ใช้งานแอพพลิเคชันดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการจราจรในแต่ละวันได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ Customs and Excise Department ฮ่องกง ยังได้พัฒนาระบบขนส่งสินค้าที่เรียกว่า Road Cargo System เพื่อใช้งานร่วมกับระบบ ezTRACK ซึ่งระบบดังกล่าวพัฒนาโดย GS1 ฮ่องกง และยังได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารให้กับท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงโดยได้ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบติดตามการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลฮ่องกงได้พยายามวางแผนบริหารจัดการการให้บริการขนส่งมวลชนประเภทต่าง ๆ โดยใช้ระบบรางเป็นโครงข่ายหลักและมีระบบการเดินรถ อาทิ รถเมล์ รถมินิบัส รถรางและรถแท็กซี่เป็นส่วนเสริม และในอนาคตรัฐบาลฮ่องกงกำลังพิจารณาเสนอความเป็นไปได้ที่จะให้บริการรถจักรยานให้เช่า และการให้บริการข้อมูลต่าง ๆ บนรถประจำทางอาทิ จุดต่อรถโดยสาร ที่จอดรถ และจุดจอดสำหรับรับส่งอีกด้วย

3. Smart Environment รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศใช้แผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Greening Master Plan) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ออกแบบสิ่งแวดล้อม และการใช้งานสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตต่าง ๆ ในฮ่องกง โดยเขต Kowloon East ได้นำแผนนี้ไปใช้ในการปรับแต่งทางเดินเท้า ระบบการระบายความร้อน การเสริมความงามและฟื้นฟูแหล่งทางระบายน้ำ การแยกขยะของเสีย และอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงสภาพแวดล้อมสีเขียว โดยมีการวัดผลจากความประทับใจในด้านความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์พื้นที่เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ยิ่งขึ้น ในปี 2556 Environment Bureau ของรัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศแผน Hong Kong Blueprint for Sustainable Use of Resources และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนพร้อมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์วิถีการใช้น้อยเพื่อลดปริมาณขยะและของเสีย (use less, waste less) มีการกำหนดการวัดผลด้วยการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มหากต้องการใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่

4. Smart Citizen ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีโครงข่ายการเชื่อมโยง (connectivity) ที่ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีปริมาณการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในครัวเรือนและมือถือสมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 80% และ 70% ตามลำดับ รัฐบาลฮ่องกงได้ผลักดันและส่งเสริมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Student IT Corner และเพิ่มความเข้มข้นในการศึกษาวิชาเทคโนโลยีให้กับนักเรียนชั้นมัธยมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังสนับสนุนส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีแก่นักเรียนและผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรในสาขาอาชีพ ICT ประมาณ 83,000 คน โดยมี 38% อยู่ในสาขาการพัฒนาและการออกแบบซอร์ฟแวร์ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลฮ่องกงกำลังวางรากฐานความรู้ทางด้าน ICT เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป

5. Smart Living รัฐบาลฮ่องกงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาใช้งานอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนและเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและคนชรา รวมถึงชุมชนต่างชาติให้ได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ระบบการบอกเส้นทางออนไลน์สำหรับผู้พิการ แอพพลิเคชั่น Text4U สำหรับผู้พิการทางสายตา และบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้พิการทางกายภาพ นอกจากนี้ Food and Health Bureau ฮ่องกงยังได้พัฒนาระบบ eHealth สำหรับเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยในฮ่องกงเพื่อช่วยพัฒนาการบริการด้านสุขภาพรวมถึงการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขต่อไป

6. Smart Government รัฐบาลฮ่องกงได้เปิดแพลตฟอร์ม GovHK เพื่องานบริการสาธารณะแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและงานบริการ การนัดหมายติดต่องานราชการต่าง ๆ อาทิ การขอรับเอกสารทางราชการ การยื่นใบสมัครเพื่อขอใบอนุญาตต่าง ๆ การหางานและสมัครงาน และการชำระค่าบริการจากรัฐ เป็นต้น และมีแอพพลิเคชันบนมือถือ เช่น EventHK GovHK Notification และ GovHK เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังมีโครงการ Electronic Submission of Forms Project สำหรับการส่งเอกสารส่วนตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกัน ทางการฮ่องกงกำลังศึกษาการใช้ระบบ paperless เพื่อลดปริมาณการเก็บเอกสารในแต่ละวัน ซึ่งทางการฮ่องกงได้จัดตั้งเว็บไซต์ data.gov.hk เพื่อให้เป็น one stop portal สำหรับการใช้งานเอกสารเพื่องานวิจัย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูลซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ด้วยนิตยสาร Hong Kong Industrialist ได้สรุปสาระสำคัญของโอกาสทางธุรกิจของเมืองแห่งอัจฉริยะไว้ว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างหรือพัฒนาสมาร์ทซิตีจะมีโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว สำนักสำรวจหลายแห่งรายงานว่า สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มการลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในอนาคตอันใกล้เพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นสมาร์ทซิตี

ฮ่องกงและอีกหลายเมืองในจีนเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การบริการด้านสายงานอาชีพ การที่ฮ่องกงมีทรัพยากรที่ครบครันและทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาให้ฮ่องกงเป็นเมืองอัจฉริยะของโลก ผู้ประกอบการด้านไอทีต่าง ๆ จึงควรจะใช้โอกาสนี้ในการต่อยอดทางธุรกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการไอทีและภาคอุตสาหกรรมไอทีในท้องถิ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดแข็งสำคัญของฮ่องกงต่อไปในอนาคต

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีน-ฮ่องกงได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) www.thaibizchina.com หรือที่ช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559