‘อีไอซี’ ชี้‘บาทแข็ง’ลดค่าครองชีพ ธุรกิจแข่งราคาเผชิญคำสั่งซื้อทรุด

24 ส.ค. 2559 | 01:30 น.
ค่ายไทยพาณิชย์เผยกลุ่มส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศถูกกระทบจาก“บาทแข็ง” ทั้งข้าว ผักและผลไม้ ยางพารารวมถึงอาหารทะเล ชี้ธุรกิจที่เผชิญการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงอาจมีผลต่อคำสั่งซื้อในช่วงนี้แต่ปิโตรเลียมรับอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนและช่วยลดค่าครองชีพของคนไทย/ด้าน “ศุภวุฒิ” ห่วง “Out Flow” ดันจีดีพีประเทศอื่น

[caption id="attachment_88857" align="aligncenter" width="700"] เทียบค่าเงินบาทและสกุลภูมิภาค ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559 และสิ้นปี 2558 เทียบค่าเงินบาทและสกุลภูมิภาค ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559 และสิ้นปี 2558[/caption]

สถานการณ์เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.63บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ(ณ 19 ส.ค.59 จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 35.97บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) สะท้อนทิศทางแข็งค่าขึ้น 3.9% โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งสัญญาณเตือนถี่ยิบให้ภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสาเหตุจากธนาคารกลางหลายประเทศเน้นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม (ยุโรป, อังกฤษ, ญี่ปุ่น) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ อเมริกา (เฟด) อาจจะปรับเพิ่มดอกเบี้ย 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ แม้เงินบาทมีแนวโน้มจะถูกกดดันให้อ่อนค่าในระยะข้างหน้า แต่การเลือกตั้งของสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนกลายเป็นประเด็นที่ตลาดหันมาจับตาหลังจากนี้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกกถาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนสู่ประเทศ4.0" โดยระบุตอนหนึ่งว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความผันผวนทางการเมืองแต่ไทยและญี่ปุ่นยังมีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศจนทำให้ค่าเงินบาทและเยนแข็งค่า แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยดูแลเพื่อมิให้เงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไปและเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่าศักยภาพของไทยยังมีความพร้อมและไม่ควรจะมองเฉพาะเรื่องการแข่งขันทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ควรจะหันกลับไปมองการพัฒนาความเข้มแข็งของประเทศด้วย

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการเคลื่อนไหวเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2559 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนนั้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 4% นับจากต้นปี 2559 ซึ่งเป็นการแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยสาเหตุหลักของการแข็งค่าเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้น้อยลง จากเดิมที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ 2 ครั้งหรือมากกว่านั้น เป็นการคาดว่าอาจจะสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

สำหรับไทยนั้น ตั้งแต่ต้นปี มีเงินทุนสุทธิจากต่างชาติเข้ามายังตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ตลาดละราว 1 แสนล้านบาทในส่วนของธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง จะเป็นกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อาทิ ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผักและผลไม้ ยางพารา รวมถึงอาหารทะเล นอกจากนี้ ธุรกิจที่เผชิญการแข่งขันด้านราคาที่ค่อนข้างสูงก็อาจจะได้รับผลกระทบในส่วนของคำสั่งซื้อในช่วงนี้ได้ ขณะเดียวกันการแข็งค่านี้ก็เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมที่ใช้สัดส่วนสินค้านำเข้ามาก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเป็นปัจจัยที่ช่วยลดค่าครองชีพของคนไทยด้วยเช่นกัน

ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยที่กำหนดทิศทางของค่าเงินบาทยังคงเป็นแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของ เฟดซึ่งอีไอซีคาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดในเดือนธันวาคม ดังนั้น ค่าเงินบาทจึงน่าจะอ่อนค่าลงในช่วงปลายปีนี้ไปอยู่ที่ระดับ 36 บาทถึง 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัย Fed แล้ว ยังไม่มีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะประเทศไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

สำหรับค่าเงินในสกุลอื่น ค่าเงินเยนถือเป็นสกุลที่มีน่ากังวล เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินเยนแข็งขึ้น ราว 15% ตามความกลัวความเสี่ยงของตลาดการเงินซึ่งผิดจากพื้นฐานของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การแข็งค่าของเงินเยนเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่น(บีโอเจ)ออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่อีกได้

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ หากดูประเทศพัฒนาแล้ว 25 ประเทศ คนส่วนใหญ่ 70% ยังคงมีรายได้เท่าเดิมหรือแย่ลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือมีประมาณ 200 ล้านคนไทยกลายเป็นประเทศที่ผูกติดกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก เห็นได้จากเดิมการส่งออกมีสัดส่วนเพียง 17-18% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 75% ทำให้เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมาก แต่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบป้องกันตัวเอง ตลาดหุ้นไทยที่เคยซื้อขายด้วยคนไทย ปัจจุบันต่างชาติเข้ามาทำให้ตลาดหุ้นดัชนีเคยอยู่ที่ 200-300 จุด เพิ่มเป็น 1,000 จุด และการระดมทุนคงต้องพึงพาต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การลงทุนโดยตรงสุทธิ จะเป็น Out Flow ไม่ใช่ In Flow ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่มีความเป็นห่วงในเรื่องเงินลงทุนไทยจะทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่นดีขึ้น ไม่ใช่ประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559