มติคณะรัฐมนตรี(23 ส.ค.59)

23 ส.ค. 2559 | 10:15 น.
เดิน 4 มาตรการกระตุ้นศก.Q 4 เร่งเบิกจ่ายงบภาครัฐ 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  วันที่ 23 สิงหาคม 2559  เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐไตรมาส4 ปี 2559 เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายและรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงินงบประมาณทั้งหมด 31,500 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายประจำเร่งรัดให้เบิกจ่ายอย่างน้อย 33% หรือ 1 ใน 3 ภายในไตรมาสแรก หรือสิ้นปีนี้ กรณีการเบิกจ่ายสำหรับการฝึกอบรมประชุมสัมมนาให้เบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนรายจ่ายลงทุนถ้าไม่ถึง 2 ล้านบาท ให้ก่อหนี้และเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้ อยู่ระหว่าง 2 -1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน หากมากกว่า 1,000 ล้าน ให้ก่อหนี้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า หรือภายในเดือนมีนาคม 2560

มาตรการที่ 2 คือ กระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณได้ประสานกับทางส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ยกเว้น อปท.ให้จัดทำรายละเอียดรายการรายจ่ายและลงทุนเสนอรองนายกฯ หรือ รมว.เจ้าสังกัด ให้สอดคล้องกันยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนความมั่นคง และนโยบายของรัฐบาล ภายในวันที่ 1 กันยายน 2559  และมาตรการที่ 3 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลกรและองค์กร โดยให้ใช้งบประมาณที่เหลือจ่ายจากปี 2559 ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2559

เห็นชอบกรอบความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายแรก  

ที่ประชุมครม. (23 สิงหาคม 2559 ) เห็นชอบกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ หรือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยปลายปี 2557 ได้ทำความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีนทางรถไฟทางคู่ สายหนองคาย-มาบตาพุด 734 กิโลเมตร สายแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. จากนั้นปี 2558 ได้นำเข้าสู่ครม.อีกครั้ง โดยได้ตกลงกรอบความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและเจรจามาต่อเนื่อง ล่าสุด รัฐบาลไทยได้ข้อสรุปกับรัฐบาลจีนว่า โครงการดังกล่าวประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด โดยจะก่อสร้างช่วงระหว่าง กรุงเทพฯ- นครราชสีมา (ช่วงที่ 1 )จากนั้นจะขยายต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 23-24 สิงหาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านทางรถไฟไทยจีน ครม.จึงได้อนุมัติกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยสาระสำคัญ คือ ทั้งสองประเทศจะให้ความสำคัญกับโครงการช่วงที่ 1 คือ กรุงเทพฯ- แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา จากนั้น คือ ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่จะรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยไทยจะมีสิทธิในโครงการทั้งสองช่วงอย่างสมบูรณ์ โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วภายในปลายปีนี้ ส่วนการดำเนินการจะแบ่งการดำเนินการอย่างใกล้ชิดของจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนจะรับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสม อาทิ สำรวจ ออกแบบ โดยไทยทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องดังกล่าวนี้ ขณะที่ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบหลักการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดทำขั้นตอนขอความเห็นและการเวนคืน โดยสัญญาดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน สัญญาที่ 1 คือ สัญญาด้านงานโยธา ซึ่งไทยจะดำเนินขั้นตอนต่างๆ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่เหมาะสม สัญญาส่วนที่สอง คือการดำเนินงานของจีน อาทิ การวางรางไฟฟ้า เครื่องกล และขบวนรถไฟ เป็นต้น โดยจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในส่วนของแหล่งทุนจะมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากงบประมาณจากฝ่ายไทย จากเงินกู้ในประเทศ จากแหล่งกู้อื่น อาทิ เงินกู้จากทางธนาคารนำเข้าส่งออกจากจีน โดยจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า จะดีกว่าอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งอื่นนอกประเทศไทย นอกจากนี้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ยังระบุถึง ความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม เป็นต้น โดย 3 ปีแรกฝ่ายจีนจะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการเดินรถและช่วยบำรุง ทั้งนี้ นายกฯกำชับให้เร่งดำเนินการให้ได้ภายในปลายปีนี้

รวมกฏหมายสรรพสามิต 7 ฉบับ

ที่ประชุมครม. (23 สิงหาคม 2559 ) เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติสรรพสามิต เป็นการนำกฎหมายทั้ง 7 ฉบับมารวมกันในฉบับเดียว ประกอบด้วย กฎหมายสรรพสามิต กฎหมายภาษีสรรพสามิตเรื่องของไพ่ สุรา ยาสูบ พิกัดสรรพาสามิต การจัดสรรพเงินจากภาษีสรรพสามิต และการจัดสรรเงินจากภาษีสุรา โดยร่างดังกล่าวจะยกเลิกพ.ร.บ.เดิมในอดีตทั้งหมด 46 ฉบับ เนื้อหาสาระแบ่งออกเป็น 3 หมวดสำคัญ หมวดการจัดเก็บภาษี ใบอนุญาต และหมวดการกำหนดโทษ เป็นการเปลี่ยนฐานภาษี โดยจะกำหนดอย่างชัดเจน อาทิ ภาษีสรรพสามิตจะเริ่มต้นจากฐานราคาขายปลีกแนะนำ ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมสรรพสามิตและบริษัทผู้ผลิต ซึ่งจะทำให้มีฐานภาษีเดียวกัน ทั้งยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษี ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมถึงอัตราภาษีต่างๆจะผูกโยงสอดรับกับอัตราภาษีพิกัดศุลกากร ซึ่งจะทำให้กฎหมายของไทยสอดรับก้นและทำให้เดินหน้าไปได้

ไฟเขียวร่างกม.เพิ่มขีดความสามารถประเทศ 4 ฉ.รวด

ที่ประชุม ครม. (23 สิงหาคม 2559 ) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.4 ฉบับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในพื้นที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณการ ให้บริการแบบจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ  โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดนิยามของคำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หมายถึงเขตพื้นที่เฉพาะที่ครม.ประกาศกำหนดเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จใจเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในเขตพื้นที่นั้น เป็นต้น รวมใน 10 จังหวัด อาทิ ตาก สระแก้ว สงขลา นราธิวาส กาญจนบุรี เป็นต้น พร้อมกำหนดให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเขตศก.พิเศษ มีหน้าที่เสนอแนะ ครม.ในการกำหนดนโยบายเขตศก.พิเศษ โดยนายกฯเป็นประธาน เลขาสภาพัฒน์ เป็นเลขาธิการ กำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่จัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิชในเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงสามารถอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย 9 ฉบับ อาทิ กฎหมายควบคุมอาการ โรงงาน ผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน เป็นต้น ขณะที่ครม.จะพิจารณาเรื่องของสิทธิประโยชน์ 2.ร่างพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2522 สาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ว่าการนิคมมีอำนาจในกฎหมาย 9 ฉบับภายในการนิคมนั้นๆเพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2520 สาระคือ เพื่อเพิ่ม ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้กับบีโอไอ ทั้งยังกำหนดให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา ขณะที่กิจการที่ไม่สามารถขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 50% เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือหากไม่ได้รับการยกเว้นและลดหย่อน อาจหักเงินลงทุนได้ไม่เกิน 70% ของเงินที่ลงทุนแล้วจากกำไรสุทธิ ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีรายได้ นอกจากนี้กำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของนำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดสอบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

และ4.ร่างพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ การจัดการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สาระสำคัญ เป็นการต่อยอดจากร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯข้างต้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายกฯเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดกรอบ แนวทางการเจรจาและสิทธิประโยชน์ที่จะให้ มีอนุกรรกมารสรรหาและเจรจา รองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน บีโอไอเป็นฝ่ายเลขาฯ เป็นต้น มีกองทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท ให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากบีโอไอ อาทิ สามารถยกเว้นภาษีนิติบุคคลได้เป็นเวลา 15 ปี และให้เงินสนับสนุนจากกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรมและบุคลากร เป็นต้น