‘โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ’โตต่อเนื่อง หนุนไทยเป็นฐานรองรับกลุ่มสตาร์ตอัพรุกเออีซี

23 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
บริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯ ชี้เทรนด์ตลาด โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ โตต่อเนื่อง รองรับธุรกิจสตาร์ท อัพ ซีบีอาร์อี เผยตลาดมีการแข่งขันรุนแรง แนะควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดี เน้นสร้างประสบการณ์ สร้างสังคม "รีจัส"แจงประเทศไทยมีศักยภาพ เหมาะแก่การใช้เป็นฐานรุกเออีซี ด้านกลุ่มทรูเปิดตัว"ทรูสเฟียร์" (TrueSphere) โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เฟิสต์คลาสแห่งแรกในไทย

ดร. เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ (Co-working Space) หรือพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน มีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น จากทั้งพนักงานและองค์กร ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา จึงส่งผลให้ตลาดนี้มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น

[caption id="attachment_88040" align="aligncenter" width="700"] โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ[/caption]

ทั้งนี้ จากการทำรายงาน เรื่อง "พื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง: ดีหรือไม่?" พบว่า พื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ทั่วโลกมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 75 แห่งในปี 2550 เป็น 7,800 แห่งในปี 2558 ขณะที่ในเอเชียแปซิฟิก พื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองอื่นๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ซิดนีย์ และเมลเบิร์น โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประเมินว่ามีพื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ รวมกว่า 300 แห่งในเมืองเหล่านี้

"จากการอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ดูได้จากการเปิดพื้นที่ให้บริการที่เพิ่มขึ้น เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงขยายสาขาในทำเลชั้นนำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สูงขึ้นและสัดส่วนกำไรลดลง ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจ ควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดี และต้องทันต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย รวมถึงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณพื้นที่ในตลาดและความต้องการด้วย การให้บริการพื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ไม่เหมือนการปล่อยเช่าพื้นที่สำนักงาน หรือการให้ผู้เช่ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำงานตามปกติกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ คือ การสร้างประสบการณ์ สร้างสังคม รวมถึงส่งเสริมโอกาสในการทำธุรกิจและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มาใช้บริการ"ดร. เฮนรี่ ชิน กล่าว

นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำพื้นที่โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรง แต่การทำในกรุงเทพฯนั้น จำเป็นต้องศึกษาทั้งในด้านความต้องการของตลาด ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเห็นภาพตลาดที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันการแข่งขันของตลาดโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ในกรุงเทพฯ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นายพอล แมคแอนดรู ผู้จัดการ รีจัส ประเทศไทย กล่าวว่า กรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะธุรกิจประเภทสตาร์ต อัพ ซึ่งเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริษัทต่างชาติ ที่ต้องการเปิดสาขาในประเทศไทย เพื่อแสวงหาโอกาสขยายธุรกิจในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นฐานในการรุกสู่ตลาดอาเซียน ปัจจัยดังกล่าว ทำให้มีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด

ด้าน ดร.ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัว "ทรูสเฟียร์"โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ระดับเฟิสต์คลาสแนวใหม่แห่งแรกในประเทศไทย บริเวณชั้น 2 อาคารเฮลิกส์ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ภายใต้แนวคิด Infinite Design Experience…. เหนือระดับด้วยดีไ ซน์Infinite First Class Cafe’ ....เหนือระดับด้วยอาหารและเครื่องดื่ม โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือผู้ถือบัตรทรูแบล็กการ์ด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1.7 แสนราย และลูกค้าธุรกิจองค์กรชั้นนำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559