โซนนิ่งพ่นพิษ‘ล้ง’มหาชัย100รายตกสภาพเถื่อน

23 ส.ค. 2559 | 15:00 น.
“ล้ง” สมุทรสาคร ท้วง คณะทำงานร่วมฯของกรมโรงงานไล่เช็กบิลโรงงานชี้หน่วยงานของรัฐยังไม่พร้อมที่จะเอื้อให้เข้ากรอบ ซํ้าร้ายปัญหาผังเมืองเก่า-ใหม่และเทศบัญญัติออกโซนนิ่งห้ามตั้ง ผลทำให้โรงงานหลายแห่งจำต้องตกอยู่ในสภาพ “เถื่อน”

จากกรณีกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายดำเนินการทางกฎหมายเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานพ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัดล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม มณฑลทหารบกที่ 16 และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบโรงงานและสถานประกอบการในกลุ่มที่มีการร้องเรียนซํ้าซาก, เจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย, ปล่อยมลพิษด้านนํ้าเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม และกลุ่มที่ถูกร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม โดยการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวจะร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีนั้น

นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมผู้ซื้อและแปรรูปอาหารทะเล สมุทรสาคร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นหรือล้ง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 100 รายได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากยังไม่สามารถตั้งเป็นโรงงานได้ ทั้งยังติดปัญหาระเบียบปฏิบัติหลายขั้นตอน อาทิ แบบก่อสร้าง ผังเมือง สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม บำบัดน้ำเสีย แรงงาน การจัดแจ้งเรื่องเครื่องจักรและสถานกิจการ เป็นต้น ดังนั้นหากไม่ให้เวลาผู้ประกอบการจะถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด ขณะที่ผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 หรือใบ รง.1-2 อย่างเทศบาลต่างๆ ยังไม่มีความพร้อม และหากพื้นที่ใดยังเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ก็ต้องขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมฯ เช่นเดียวกับการแจ้งรับใบ รง.3-4 นอกจากนี้ล่าสุดยังกำหนดให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ผู้ถือบัตรประกันสุขภาพที่ชำระค่าใช้จ่ายต่อรายไปแล้วประมาณ 3,000 บาท ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน ต่างได้รับความเดือดร้อน บางรายเมื่อลาออกจากระบบประกันสังคมแล้ว หากกลับเข้าสู่ระบบต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้ไม่สามารถขอใบอนุญาต (รง.)ได้

ด้านนายสมคิด ตัณฑศรีสุข อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่าผู้ประกอบการที่ถูกตรวจสอบจะมีอยู่ 3 จำพวกคือ จำพวกแรกผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีคนงาน 7-20 คน ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5-20 แรงม้า ซึ่งเป็นพวกที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตโรงงาน ,จำพวกที่สอง ผู้ประกอบการขนาดกลาง มีคนงาน 21-50 คน ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 21-50 แรงม้า ซึ่งเป็นพวกที่ต้องมีใบอนุญาตรับแจ้งกิจการหรือ รง.2 และถ้าอยู่ในเขตเทศบาล ก็สามารถแจ้งขออนุญาตจากเทศบาลในท้องถิ่นได้ แต่ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่ของ อ.บ.ต.ยังต้องมาแจ้งขออนุญาตที่สำนักงานอุตสาหกรรมฯ จำพวกที่สาม ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มีคนงาน 50 คนขึ้นไป ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป ซึ่งเป็นพวกที่ต้องมีใบอนุญาตรับแจ้งกิจการหรือรง.4 จึงจะประกอบกิจการได้ โดยต้องแจ้งขออนุญาตที่สำนักงานอุตสาหกรรมฯ หากฝ่าฝืนมีความผิด ระวางโทษปรับ 200,000 บาท และหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี

"ผู้ประกอบการรายเล็กไม่เข้าใจ เพราะแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาเช่น ตัวอย่างน้ำเสียต้องใช้เวลาวิเคราะห์ 1 สัปดาห์เป็นต้น นอกจากนี้ยังติดปัญหาผังเมืองหมดอายุแล้วยังไม่ได้ประกาศผังเมืองออกมาใหม่ ประกอบกับเทศบาลได้มีการประกาศเทศบัญญัติออกมาควบคุมทับซ้อนล้อตามผังเมืองเดิม ทำให้หลายแห่งยังอยู่ในสภาพพื้นที่ห้ามตั้งโรงงาน และทำให้ออกใบอนุญาตให้กับโรงงานไม่ได้ จึงต้องกลายเป็นโรงงานเถื่อนดังกล่าว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559