มอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้าน 'ผ่านมือถือ' ประหยัดพลังงาน เพิ่มความสะดวก

21 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
การประหยัดพลังงาน แค่ลดใช้พลังงานเกินจำเป็น รู้จักปิดเมื่อไม่ได้ใช้ เพียงแค่นี้ก็สามารถลดใช้พลังงานไปได้เยอะ คิดง่ายๆ เปิดพัดลมทิ้งไว้โดยที่ตัวเองไม่อยู่ แทนที่แค่เอื้อมมือไปปิดก่อนเดินออกมา ก็ประหยัดไปได้เยอะแล้ว แต่ถามหน่อย ทำกันหรือเปล่า หรือจะเปิดไว้เผื่อ...ในเมื่อไม่มีคนนั่งอยู่

ประเด็นนี้แหละ จึงเป็นสิ่งที่เด็กๆ ยุคใหม่ ต้องมาช่วยกันคิด พัฒนาสติปัญญาคนขี้เกียจ และเพื่อความสะดวก การลืมปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเวลาที่เร่งรีบ คิดดีๆ มันมีผลต่อค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

[caption id="attachment_86663" align="aligncenter" width="335"] เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข[/caption]

“เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข และบิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์” นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) พัฒนา “ระบบควบคุมและตรวจสอบการทำงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์” ให้ผู้ใช้งานสามารถมอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านทางมือถือ โดยมี ปองพล นิลพฤกษ์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา

[caption id="attachment_86661" align="aligncenter" width="335"] บิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์ บิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์[/caption]

เอ็ม เล่าว่า การพัฒนาระบบเริ่มจากโมดูลหลักสำหรับการติดต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน มีโปรแกรมฝังไว้ที่ตัวโมดูลและระบบเซิร์ฟเวอร์ เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ไฟฟ้ากับ Smart Devices ซึ่งใช้เว็บซ็อกเกตโปรโตคัล(WebSocket Protocol) เป็นโปรโตคัลหลักในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ และสร้างบ้านจำลองเพื่อใช้ในการทดสอบการทำงานของระบบ

[caption id="attachment_86664" align="aligncenter" width="335"] ปองพล นิลพฤกษ์ ปองพล นิลพฤกษ์[/caption]

ระบบนี้ประกอบด้วยการทำงาน 2 ส่วน คือ ส่วนของซอฟต์แวร์แอพพลิเคชัน เป็นไฮไลต์สำคัญของตัวระบบ ซึ่งรองรับการทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และยังมีส่วนของเว็บแอพพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้จากทุกระบบปฏิบัติการ เช่น iOS และ Windows เป็นต้น ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสหน้าจอมือถือหรือแท็บเลตเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าได้โดยตรงหลังจากเข้าสู่ระบบ หน้าแรกของระบบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนการควบคุมปิดเปิดแบบสัมผัส ส่วนตรวจสอบค่าใช้ไฟฟ้า และส่วนแสดงอุณหภูมิของโมดูลที่ติดตั้งภายในบ้าน

เมนูการใช้งานมีทั้งหมด 7 ฟังก์ชัน ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้งานได้ 5 ฟังก์ชัน คือ หน้าแรกของระบบ ประวัติการใช้งานของผู้ใช้ ควบคุมด้วยการตั้งเวลาถอยหลัง ควบคุมด้วยการตั้งวันที่และเวลาที่ต้องการ ควบคุมด้วยตำแหน่งจีพีเอส สำหรับให้ผู้ใช้งานกำหนดระยะห่างจากตัวบ้านเพื่อทำการกำหนดระยะการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนหน้าจัดการใช้งานจะเกี่ยวกับการเพิ่มผู้ใช้งานและการกำหนดสิทธิ์การใช้งาน รวมถึงหน้าตั้งค่าอุปกรณ์ไฟฟ้านั้น เช่น ชื่อและรูปภาพของอุปกรณ์ จำนวนวัตต์ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 หน้าดังกล่าวสามารถใช้งานได้เฉพาะผู้ที่ดูแลระบบเท่านั้น

[caption id="attachment_86662" align="aligncenter" width="500"] Raspberry PI 2 Model B Raspberry PI 2 Model B[/caption]

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ ใช้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ Raspberry PI 2 Model B และรีเลย์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ 8 ช่องทาง รวมถึงการสร้างบ้านจำลอง เพื่อแสดงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดกว้าง 85 สูง 160 และลึก 20 เซนติเมตร ซึ่งมีจำนวนหลอดไฟ 4 ดวง พัดลม 1 ตัว และสะพานไฟเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ใด ๆ ก็ได้

บิว อธิบายว่า หลังจากทำการทดสอบระบบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการทำงาน พบว่า ระบบสามารถทำงานได้ดี ทุกส่วนที่พัฒนาขึ้น ทำงานตามวัตถุประสงค์และขอบเขตการทำงานของระบบ โดยเฉพาะการควบคุมแบบสัมผัสที่สามารถ สั่งเปิดและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างง่าย และสามารถควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยตำแหน่งจีพีเอสได้อีกด้วย ระบบเหล่านี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อ คือ ควรมีโมดูล WI-FI แยกออกมาจาก โมดูลหลักเพื่อให้สามารถติดตั้งได้ง่ายทุกที่ภายในบ้านและแยกเป็นอิสระต่อกัน โดยโมดูลที่แยกออกมานี้สามารถส่งต่อข้อมูลผ่าน WI-FI ไปยังโมดูลหลักเพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบในเครื่องแม่ข่ายอีกทีหนึ่ง

ด้านอ.ปองพล สรุปว่า ระบบเพื่อการมอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านมือถือของนักศึกษา เป็นการคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียน ผสมกับเรื่องราวเทคโนโลยี ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่โดยฝีมือคนไทย ถือเป็นผลงานต้นแบบที่จะนำไปสู่คุณภาพการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ตรงตามพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในการจะนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปเป็น 10-20 เท่าตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559