กำลังพล พลายน้อย พัฒนาตัวเองล่วงหน้า เมื่อถึงเวลา จึงออกสตาร์ทไว

19 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
คุณเอ็ม- กำลังพล พลายน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่าเซลล์ และพลังงานทดแทน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เริ่มจับงานธุรกิจตั้งแต่สมัยวัยเรียน ชั่วโมงบินการทำงานจึงสั่งสมมากว่า 15 ปี เริ่มจากการรับซ่อมคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเพียงร้านเดียวในอำเภอ จึงเปิดโอกาสให้ทำกำไรถึงเดือนละเกือบ 4 หมื่นบาทด้วยวัยเพียง 20 ต้นๆ แต่ทำได้ 2 ปีเขาเริ่มมองว่าธุรกิจคงทำกำไรน้อยลงไปเรื่อยๆเพราะราคาคอมพิวเตอร์ถูกลงๆ เมื่อช่วงพีกหรือจุดทำกำไรสูงสุดของธุรกิจผ่านพ้นไปแล้วก็ไม่ควรรั้งไว้ เขาขยับตัวเองสู่ธุรกิจอื่นที่มีอนาคตสดใสกว่าอย่างไม่รีรอ

“ผมจะคิดเทรนด์ล่วงหน้าไปก่อนประมาณ 3 ปี ตอนนั้นเห็นว่าเทรนด์เรื่องระบบรักษาความปลอดภัยกำลังจะมา ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพื่อนหลายคนทักว่า เด็กยังไม่คลอดเลย เตรียมซื้อเสื้อผ้าแล้วหรือ ผมว่าต้องซื้อ เพราะรอให้คลอดก่อนก็คงไม่ทันใส่”

[caption id="attachment_86326" align="aligncenter" width="377"] คุณเอ็ม- กำลังพล พลายน้อย คุณเอ็ม- กำลังพล พลายน้อย[/caption]

กำลังพลเปรียบเทียบการตัดสินใจของเขา ซึ่งในเวลานั้นเป็นการทิ้งธุรกิจคอมพิวเตอร์จากกำแพงแสน มาสู่ธุรกิจระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่จังหวัดสมุทรสาคร(ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระบบเปิด-ปิดประตูด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบกั้นประตูอัตโนมัติ ระบบสแกนนิ้วระบุตัวบุคคล ระบบกล้องวงจรปิด ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย เป็นต้น) เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นสมุทรสาคร แล้วก็ได้รับคำตอบว่า

“ถ้าจะเริ่มธุรกิจอะไรใหม่ๆ ผมขอเริ่มที่จังหวัดที่มีจีดีพีสูงๆ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ผมนำเงินทุนจากธุรกิจคอมพิวเตอร์มาลงที่นี่ โดยตอนแรกเรารับทำคอมพิวเตอร์ควบคู่ไปกับระบบรักษาความปลอดภัยด้วย และพอไปถึงจุดหนึ่ง ธุรกิจด้านระบบความปลอดภัยเริ่มมีลูกค้าวิ่งแซงหน้าธุรกิจคอมพิวเตอร์ไปไกลจนเราต้องวางมือจากธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเชิง แต่สุดท้ายเราก็ผ่านจุดพีกของธุรกิจระบบรักษาความปลอดภัย ถึงแม้ลูกค้าจะยังคงมีอยู่และเราก็มีการขยายสาขาเป็น 3 สาขา (ในนามบริษัท มหาชัยไอทีฯ) ตัวธุรกิจเองก็ยังไปได้เรื่อยๆ และคงจะเติบโตต่อไป แต่มันทำกำไรน้อยลง ผมมองว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องขยับเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานซึ่งเป็นเทรนด์แห่งอนาคต”

 Startup ต้องไม่หยุดเรียนรู้

กำลังพลศึกษาลู่ทาง 3 ปี แล้วก็ตัดสินใจเปิดบริษัทโซล่าเซลล์ และพลังงานทดแทน (ประเทศไทย) จำกัดในปีที่ผ่านมา (2558) เพราะเชื่อว่า ยังมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อีกมาก ตลาดปัจจุบันเป็นของเทคโนโลยีต่างชาติ เขาคิดว่าน่าจะดึงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนมาให้คนไทยได้บ้าง เพราะบริษัทไทยเองก็มีศักยภาพมากพอที่จะทำในลักษณะ OEM (รับจ้างผลิตให้แบรนด์ต่างๆตามที่ลูกค้ากำหนด)

อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจของเขาที่ลงตัวก็คือ การผลิตและติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีเป็นแพ็กเกจให้ลูกค้าเลือกตั้งแต่ชุดเล็กสำหรับใช้ในครัวเรือน ถึงชุดใหญ่ที่ให้กำลังไฟมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้า จึงใช้ระบบขายแฟรนไชส์ให้ตัวแทนในแต่ละจังหวัดไปเปิดช็อปที่มีรูปลักษณ์เดียวกันภายใต้แบรนด์ “โซล่าเซลล์ ไทยแลนด์” ดำเนินการเป็น one-stop service ลูกค้ามาในร้านจะได้สินค้าครบทั้งระบบ โดยเขาจะคอยให้ความสนับสนุนด้านตัวผลิตภัณฑ์ สื่อประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นป้ายในร้าน ช่างเทคนิคให้คำแนะนำปรึกษา และทีมสนับสนุนด้านการซ่อมบำรุง

“งานแฟร์ด้านพลังงานผมเดินมาทั่วเอเชียแล้ว อย่างประเทศจีนที่เป็นมหาอำนาจด้านโซลาร์เซลล์ ผมเดินงานแสดงของเขาติดกัน 5 วัน เพื่อซึมซับรับทราบโนว์ฮาวของเขา แล้วเอากลับมาผลิตสินค้าที่เป็นคนไทยทำ เป็นแบรนด์ของไทย หรืออย่างงานแฟร์ที่ญี่ปุ่น เราก็จะได้เห็นเทคโนโลยีในระดับที่ดียิ่งขึ้น มีพัฒนาการก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ทำอย่างไรให้แผ่นโซล่าเซลล์มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยาก ญี่ปุ่นนำเราไปไกลแล้ว แต่เราก็จำเป็นต้องไปศึกษาดูงาน เพื่อนำกลับมาปรับปรุงหรือมาต่อยอดของเรา อย่างบ้านเราตอนนี้กำลังฮิตติดแผงโซล่าเซลล์กันมากขึ้น แต่ก็ยังติดตั้งได้แบบทั่วไปเป็นแผงๆบนพื้นที่หลังคา ขณะที่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นกำลังผลิตแผงที่เล็กลง สามารถติดตั้งตามขอบหลังคาเพื่อให้มันดูสวยงามมากขึ้นและติดตั้งได้พื้นที่มากขึ้น ได้จำนวนแผ่นมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ได้กำลังผลิตไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ยิ่งเราเรียนรู้ได้เร็ว ก็ยิ่งเอาไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าของเราได้เร็ว อย่างผมมีดีลเลอร์ทั่วประเทศอยู่ 20 ราย ผมก็นำเทรนด์ใหม่ๆที่เราได้มาจากการศึกษาดูงาน ไปเผยแพร่บอกต่อ ไปเปิดคอร์สอบรม ทำให้สินค้าและบริการของบริษัทมีการอัพเดต มีอะไรที่ก้าวหน้าอยู่เสมอ”

กำลังพลเล่าว่า การจัดสัมมนาฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ฟรีๆแก่บุคคลทั่วไปนั้น เป็นกลยุทธ์สำคัญที่เขานำมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก การเปิดอบรมสัมมนาจึงทำให้เขาได้พบปะโดยตรงกับคนที่สนใจในเรื่องที่เขานำเสนอ และในบรรดาดีลเลอร์ที่เขามีอยู่ 20 รายในปัจจุบันนั้น หลายรายก็เคยเป็นผู้ที่มาอบรมฟรีกับคอร์สที่เขาเปิดสอนนี่เอง

“ผมเต็มใจเปิดอบรมฟรีเลย แรกๆอบรมเดือนละ 2 ครั้ง เพราะเราต้องการให้คนเข้ามาฟังได้อย่างสบายใจ เขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร เราเองก็ได้พบกับคนที่สนใจอยากจะทำความรู้จักกับเทคโนโลยีของเราจริงๆจังๆ หลายคนมาฟังหลายครั้ง มาคุย มาซักถาม จนสุดท้ายเขาก็กลายเป็นดีลเลอร์ของเรา”

 ต่อยอดธุรกิจอนาคตจากสิ่งที่มีอยู่

“โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เอามาใช้กับรถได้ เราผลิตรถยนต์แบบบริษัทใหญ่ๆไม่ได้ เราก็น่าจะลองทำในสิ่งที่เราทำได้ เช่น พัฒนาแผงโซล่าเซลล์ของเราให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น พัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งมันไม่ได้ยากอะไร แล้วเราก็อาจจะเริ่มจากจักรยานไฟฟ้า ถามว่าเราพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าได้ไหม มันก็อาจเป็นไปได้ โดยตัวเทคโนโลยีแล้วมันไม่ได้ยุ่งยากอะไร ผมเองเป็นสตาร์ทอัพยังมีทุนน้อย แต่เราก็มีไอเดียและสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับคนที่สนใจอยากจะทำ ผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย เทรนด์รถไฟฟ้าก็ต้องมาในอนาคต ตอนนี้เราก็คิดพัฒนาสั่งสมประสบการณ์ไว้ก่อน คุยกับพันธมิตรไว้ก่อน พอถึงเวลาที่สุกงอม เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจรถไฟฟ้าเริ่มออกตัว เราก็พร้อมแล้วสำหรับเทรนด์นั้น”

กำลังพลยังเล่าถึงแผนการในอนาคตว่า ทุกวันนี้เขาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ไปแล้วจำนวนมากทั่วประเทศผ่านทางช็อป 20 สาขา เช่น การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่มหาวิทยาลัยสุรนารี งานติดตั้งเสาไฟฟ้าพลังโซล่าเซลล์ งานของหน่วยงานราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเน้นคอนเซ็ปต์สินค้าไทยที่มีคุณภาพดีไม่แพ้เทคโนโลยีต่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559