ภาษีนำเข้า 0% ต่อยอด Shopping Tourism เมืองไทย

17 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีมีการเติบโต 3.2% ในไตรมาสแรกของปี และคาดว่าในไตรมาส2 ก็จะมีตัวเลขการเติบโตที่ใกล้เคียงกันมีปัจจัยสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยวตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาและใช้จ่ายไปกับค่าที่พัก ค่าอาหารและการช็อปปิ้ง ล้วนส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มุ่งเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายให้มากขึ้น หลังจากที่พบว่า การช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองไทยซึ่งมีจำนวน 1,200-1,500 บาทต่อคน มีสัดส่วนตํ่ากว่าสิงคโปร์หรือฮ่องกง 2-5 เท่าตัว ดังนั้นการเพิ่มทางเลือกในการจับจ่ายจึงเป็น “โอกาส” ที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

[caption id="attachment_85900" align="aligncenter" width="700"] การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ[/caption]

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้ง หรือ Shopping Tourism ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ชัดเจน การกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกขณะที่ข้อมูลการวิจัยของ Global Reporton Shopping Tourism โดย World Tourist Organization พบว่า นักท่องเที่ยวชาวอาเซียน 90% ถือว่าการช็อปปิ้งเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการมาท่องเที่ยว รองลงมาได้แก่นักท่องเที่ยว West Europeans 86% และ East European 85%

ทั้งนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่มีในการจูงใจให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อสินค้าได้แก่ ราคาสินค้า ศูนย์การค้าหรือย่านการค้าที่มีบรรยากาศดีและปลอดภัย มีสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนังที่ดี มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และมีแบรนด์สินค้าชั้นนำวางจำหน่าย ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกซื้อ

ยกเว้นภาษีนำเข้า 0%

ขณะที่การทำให้ประเทศไทยเป็น“ดิวตี้ ฟรี ซิตี” เป็นอีกทางเลือกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อสินค้าและมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น และผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นช็อปปิ้ง เดสติเนชันหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่สำคัญคือ การพิจารณายกเว้นภาษีนำเข้าบางกลุ่มสินค้าอาทิ แฟชั่น เครื่องสำอาง รวมถึงการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อสินค้า

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีพฤติกรรมชอบการจับจ่ายและช็อปปิ้งสินค้าแฟชั่น แบรนด์เนม แต่ในหมวดสินค้าเหล่านี้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะราคาสูงกว่าต่างประเทศราว 20-30% มีความหลากหลายน้อยกว่า ขณะที่ภาคเอกชน กลุ่มผู้ค้าปลีก แฟชั่น แบรนด์เนม ต่างนำเสนอภาครัฐให้พิจารณาแนวทางเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจและโอกาสในการแข่งขันของไทย โดยลดอัตราภาษีนำเข้า สินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวให้เหลือ0% เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมไปถึงบรรดาขาช็อปชาวไทยที่นิยมไปช็อปปิ้งในต่างประเทศและเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนมกลับมาเมืองไทยแทน

คนไทยแห่ช็อปต่างประเทศ 1.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้พบว่า ตั้งแต่ปี 2548-2557 คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศมียอดใช้จ่ายในต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2548 มียอดใช้จ่าย 8.07 หมื่นล้านบาท ปี 2549 มียอดใช้จ่าย 9.60หมื่นล้านบาท ปี 2550 มียอดใช้จ่าย 1แสนล้านบาท ปี 2551 มียอดใช้จ่าย 9.73หมื่นล้านบาท ปี 2552 มียอดใช้จ่าย 1แสนล้านบาท ปี 2553 มียอดใช้จ่าย 1.21แสนล้านบาท ปี 2554 มียอดใช้จ่าย 1.22 แสนล้านบาท ปี 2555 มียอดใช้จ่าย 1.37แสนล้านบาท ปี 2556 มียอดใช้จ่าย 1.46แสนล้านบาท และปี 2557 มียอดใช้จ่าย1.70 แสนล้านบาท

โดยจำนวนเงินที่ใช้จ่ายออกไปเป็นการซื้อสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ฯลฯ แบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในเมืองไทยในสัดส่วนที่สูง โดยในปี 2548 มียอดใช้จ่ายซื้อสินค้าแบรนด์เนม 2.41 หมื่นล้านบาท ปี 2549 มียอดใช้จ่าย 2.87 หมื่นล้านบาท ปี 2550 มียอดใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาท ปี 2551 มียอดใช้จ่าย 2.90 หมื่นล้านบาท ปี 2552มียอดใช้จ่าย 2.99 หมื่นล้านบาท ปี 2553 มียอดใช้จ่าย 3.63 หมื่นล้านบาท ปี 2554 มียอดใช้จ่าย 3.64 หมื่นล้านบาท ปี 2555 มียอดใช้จ่าย 4.12 หมื่นล้านบาท ปี 2556 มียอดใช้จ่าย 4.37 หมื่นล้านบาท และปี2557 มียอดใช้จ่าย 5.08 หมื่นล้านบาท

คุ้มค่า/คุ้มราคา/หลากหลาย

ดังนั้นหากภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมลดเหลือ 0% จะทำให้ช่องว่างของราคาสินค้าที่จำหน่ายในไทยประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศผู้ผลิตลดน้อยลงการกระตุ้นหรือดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะง่ายขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยที่นิยมเดินทางไปช็อปปิ้งต่างชาติก็จะลดลงด้วย เพราะเฉลี่ยอัตราค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากินอยู่ทำให้ไม่คุ้มเท่ากับการเลือกซื้อในเมืองไทย

ส่วนจิ๊กซอว์เรื่องของ Value forMoney ราคาที่นำเสนอค่อนข้างถูกส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทยแห่มาด้วย “สินค้าราคาถูก” นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยจึงเป็นนักท่องเที่ยวระดับแมส (Mass) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างโปรโมตการท่องเที่ยวโดยพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อสูงและ “World Class ShoppingVenue” เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการช็อปปิ้ง ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งจูงใจของการช็อปปิ้งที่หลากหลายในระดับสากล นับตั้งแต่ระดับเดินดินตลาดจตุจักร ตลาดรถไฟ จนถึงศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส เช่น ย่านเซ็นทรัล แบงค็อก, ดิ เอ็ม ดิสทริค, ย่านสยาม เป็นต้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก แต่ก็มีภาคเอกชนที่เดินหน้าและบริหารจัดการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี การผลักดันให้นโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้งเกิดขึ้นอย่างจริงจัง จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวและเติบโตได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559