การค้า ‘Rare earths’ ระหว่างประเทศ

16 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
Rare Earth เป็นวงอาร์แอนด์บีของแท้ชื่อดังในยุคต้นคริสตทศวรรษ 1970 สังกัดโมทาวน์ ที่คนไทยยุคก่อนคุ้นหูกันดี (หลาน ๆ สมัยนี้ลองหามาฟังกันดูก็ดีนะครับ ลุงขอแนะนำ) แต่วันนี้ผมจะพูดถึง Rare earths ในความหมายของแร่ธาตุโลหะหายาก 17 ชนิด อาทิ ดิสโพรเซียม อิตเทรียม นีโอดิเมียม และธาตุโลหะชื่อยาก ๆ อีก 14 ชนิดที่ล้วนเป็นแร่ที่จำเป็นในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทค ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์อัจฉริยะคู่ใจของท่าน โทรทัศน์จอแบน เทคโนโลยีประหยัดพลังงานต่าง ๆ เครื่องผลิตพลังงานจากลม รถยนต์ไฮบริดหรือยุทโธปกรณ์ จึงเรียกได้ว่าเป็น "น้ำมันของศตวรรษที่ 21" ทีเดียว

เมื่อปี 2555 ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ถึงกรณีสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นฟ้องจีน (ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกถึงร้อยละ 90)ที่องค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการตั้งโควต้าส่งออกและต่อมา ในปี 2557WTO ตัดสินให้จีนแพ้ ต้องยอมยกเลิกโควต้าการส่งออก Rare earths ตั้งแต่ต้นปี 2558 ส่งผลให้ราคา Rare earths ลดลงกว่าหนึ่งในสาม แต่ร้ายกลับกลายเป็นดี เพราะราคาที่ตกต่ำลงทำให้จีนส่งออก Rare earths ได้เพิ่มขึ้น รายได้โดยรวมจากการส่งออก Rare earths สูงกว่าก่อนยกเลิกโควต้าเสียอีก ขณะที่ผู้ผลิต Rare earths ของสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่รายเดียว กลับได้รับผลกระทบจากราคา Rare earths ที่ลดลง กระทั่งต้องประกาศล้มละลายเมื่อกลางปีที่แล้ว ฟังดูแล้วก็เป็นอุทธาหรณ์นะครับ สหรัฐฯ ชนะคดี แต่ไม่สามารถล้มการผูกขาดของจีนได้ แถมผู้ผลิตรายเดียวของตัวเองยังต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเก่าเสียอีก

เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ แค่นี้ครับ มีพัฒนาการใหม่มาท้าทายความเป็นเจ้าตลาดของจีนและมีความเป็นไปได้ว่าการ "ผูกขาด" ตลาด Rare earthsนี้จะต้องสิ้นสุดลงสักวันหนึ่งข้างหน้าในเวลาที่ไม่นานเกินรอ
เรื่องของเรื่องก็คือ ในอีกไม่กี่ปีนี้คาดว่าเทคโนโลยีและกฎหมายระหว่างประเทศจะเปิดโอกาสให้มนุษยชาติเริ่มขุดแร่จากพื้นดินใต้ทะเลขึ้นมาใช้ได้แล้วซึ่งจากการสำรวจค้นพบแล้วว่ามี Rare earths อยู่ในพื้นดินใกล้ปล่องภูเขาไฟใต้ทะเล ซึ่งเรียกกันว่า Cobalt-rich ferromanganese crustsในระดับความลึกจากผิวน้ำตั้งแต่ 400 - 5,000 เมตร คือมีอยู่ทั้งในพื้นดินใต้ท้องทะเลหลวงและในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจจำเพาะของหมู่เกาะแปซิฟิก ที่สำคัญคือมีปริมาณมากพอให้ทำเหมืองเชิงพาณิชย์ได้ครับ

การที่ยังไม่มีการทำเหมืองแร่ในพื้นดินใต้ทะเลเสียทีทั้ง ๆ ที่มีการค้นพบแหล่งแร่มานานหลายปีแล้วนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งก็คือการทำเหมืองแร่บนพื้นทวีปถูกกว่าและซับซ้อนน้อยกว่า ที่ผ่านมาราคาแร่สำคัญ ๆ ก็ค่อนข้างตกต่ำ จึงไม่คุ้มนักที่จะลงทุนนำแร่จากพื้นดินใต้ทะเลขึ้นมาใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น และความต้องการแร่หายาก เช่น Rare earths มีเพิ่มขึ้น ก็ทำให้แหล่งแร่ในพื้นดินใต้ท้องทะเลเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเรื่องการนำRare earths จากพื้นดินใต้ทะเลขึ้นมาใช้ ญี่ปุ่นดูจะมีบทบาทแข็งขันที่สุด สืบเนื่องจากประสบการณ์เมื่อปี 2553 เมื่อจีนและญี่ปุ่นมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก และจีนระงับการส่งออก Rare earths ไปญี่ปุ่น สร้างความเสียหายทางการค้าอย่างมาก ญี่ปุ่นจึงค่อนข้างจะมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาจีนในเรื่องนี้ โดยทำการสำรวจอย่างจริงจังจนพบแหล่ง Cobalt-rich crusts ในเขตไหล่ทวีปของญี่ปุ่นเอง และญี่ปุ่นยังมีความร่วมมือกับอินเดียในการสำรวจหาแหล่ง Rare earths ในมหาสมุทรอินเดียเพื่อนำขึ้นมาใช้อีกด้วย

อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือ ยังมีการศึกษาน้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองใต้ทะเลต่อระบบนิเวศของพื้นดินใต้ทะเล ภาคประชาสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการทำเหมืองในพื้นดินใต้ทะเลเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำลายระบบนิเวศที่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อีก

สำหรับการทำเหมืองในพื้นดินใต้ทะเล ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของทุกประเทศและเป็นพื้นที่ส่วนรวม (common heritage of mankind) นั้น สหประชาชาติได้จัดตั้งองค์กรพื้นดินใต้ทะเล (International Seabed Authority - ISA) ขึ้นมาดูแลตามอนุสัญญากฎหมายทะเลค.ศ. 1982 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อบังคับในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเล รวมถึงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง ด้วย เมื่อการจัดทำข้อบังคับดังกล่าวเสร็จสิ้น คาดว่าจะเริ่มมีการทำเหมืองในพื้นดินใต้ทะเลเชิงพาณิชย์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ISA และจะเป็นต้นแบบให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปรับใช้กับการทำเหมืองในพื้นดินใต้ทะเลในเขตไหล่ทวีปของตนด้วย

เรื่องนี้จะว่าไม่เกี่ยวกับไทยก็ไม่เชิงนะครับ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ผลิต Rare earths โดยในปีที่ผ่านมาผลิตได้ 1,100 ตัน ซึ่งห่างไกลจาก 100,500 ตันของจีน แต่ด้วยความที่เป็นแร่หายากและมีเพียงไม่กี่ประเทศผลิตได้ เราจึงเป็นผู้ผลิตลำดับห้าของโลก ถัดจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ดังนั้น การทำเหมืองในพื้นดินใต้ทะเลในอนาคต(ซึ่งทุกประเทศต้องมีเอี่ยวแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย) คงมีผลกระทบต่อผู้ผลิต Rare earths ของไทยไม่มากก็น้อย ควรเตรียมพร้อมครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559