โรดแมปท่องเที่ยวแห่งชาติ วางรากฐานรับยุทธศาสตร์20 ปี

08 ส.ค. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. พิจารณาในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ เพื่อนำเข้าสู่ครม.ในขั้นตอนต่อไป แผนนี้ไม่เพียงแต่เป็นแผนแม่บทขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในช่วง 5 ปีนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นแผนที่ปูทางการพัฒนาระยะยาว 20 ปี ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ(พ.ศ.2560-2579) ด้วย

[caption id="attachment_79762" align="aligncenter" width="700"] ประมาญการเบื้องต้นถึ รายได้จาการท่องเที่ยวของไทยภายในปี 2579 ประมาญการเบื้องต้นถึ
รายได้จาการท่องเที่ยวของไทยภายในปี 2579[/caption]

มีโอกาสรายได้ทัวริสต์แตะ13 ล้านล.

ทุกวันนี้บริบทแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 ที่ต้องวางให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของสภาพัฒน์ ซึ่งจะถูกนำมาใช้ต่อจากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้ จึงต้องมีทิศทางการพัฒนาที่ตอบโจทย์ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงกับแนวโน้มการท่องเที่ยวโลกที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของแรงผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในโลกยุคดิจิตอล

นอกจากนี้จากการประมาณเบื้องต้น ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2579 ไทยจะมีโอกาสที่รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงถึง 13 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 9 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเติบโตของปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแรง และการพัฒนาด้านอุปสงค์การรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ในปัจจุบันยังคงแบบเดิมไปจนถึงปี 2578 สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาทและรายได้จากการเดินทางเที่ยวในประเทศ จะอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท (ตารางประกอบ)

ประกอบกับเมื่อไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาวในอีก 20 ปี ทำให้แผนพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่2 ไม่เพียงแต่วางแนวทางการพัฒนาในช่วง 5 ปีนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน"เท่านั้น แต่ยังวางโรดแมปแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่การบรรจุวิสัยทัศน์ 20 ปี ภายใต้ 6 แนวทางการพัฒนา 3 ระยะ

ดันไทยเกตเวย์สู่การท่องเที่ยวในเอเชีย

ระยะแรก คือ 5 ปีนี้หรือภายในปี 2564 ไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลกในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทะเล ชายหาด การแพทย์ และเริ่มมีการส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำในเซ็กเมนต์อื่นๆ การใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปโตอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มภูมิศาสตร์หลักปัจจุบัน(เช่น จีน อาเซียน ยุโรปตะวันตก นักท่องเที่ยวไทย) และเริ่มมีการขยายเป้าหมายกลุ่มภูมิศาสตร์ รวมถึงทุกจังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ที่ได้กำหนดไว้ได้รับการพัฒนา ทำให้การท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้นในการพัฒนาท่องเที่ยว ทำให้ไทยมีกฎและข้อบังคับที่เคร่งครัดในด้านความยั่งยืนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และการผลักดันให้ไทยเป็นเกตเวย์สู่การท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ CLMV

ขณะที่ระยะที่ 2 คือ 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2569 ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนในอีกอย่างน้อย 1 เซ็กเมนต์ใหม่ นอกเหนือจากจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทะเล ชายหาดและการแพทย์ ไทยมีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มภูมิศาสตร์หลักเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 1 กลุ่ม และการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มภูมิศาสตร์หลักดังกล่าว มีการกำหนดและพัฒนาเขตพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม เน้นการเชื่อมโยงกับเขตพื้นที่ท่องเที่ยวเดิม การพัฒนาการท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ โดยชุมชนท้องถิ่นมีความพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำในการพัฒนาการท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความยั่งยืนในการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง และไทยจะก้าวขึ้นเป็นเกตเวย์สู่การท่องเที่ยวในอาเซียน

ส่วนระยะที่ 3 คือ ใน 20 ปีนี้หรือภายในปี 2579 ไทยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอีกอย่างน้อย 2 เซ็กเมนต์ใหม่ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทะเล ชายหาดและการแพทย์ ไทยจะมีนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคทั่วโลกและการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทุกจังหวัดได้รับการพัฒนาการท่องเที่ยวตามศักยภาพและอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด การท่องเที่ยวเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนท่องเที่ยว ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และไทยเป็นเกตเวย์สู่การท่องเที่ยวในเอเชีย

แผนท่องเที่ยว 5 ปีเน้นความยังยืน

โรดแมปดังกล่าวเป็นกรอบในการวางรากฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งต่อไปการจัดทำแผนพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับต่อไป รวมถึงแผนการลงทุนต่างๆของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องยึดกรอบดังกล่าวสำหรับการพัฒนา เห็นได้ชัดเจนจากแผนพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งวางเป้าหมายหลักไว้ว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันของนักท่องเที่ยว ให้มีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีอย่างน้อย 6% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,900 บาท เพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ การพัฒนาอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยให้ขึ้นมาเป็น 1 ใน 30 อันดับสูงสุดของโลก หรือ 7 อันดับสูงสุดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้น

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสินค้า บริการและความยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว ที่สอดรับกับแผนลงทุนของกระทรวงคมนาคม ยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ และยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและกฎหมาย

"ความแตกต่างระหว่างแผนฉบับที่ 2 กับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 1 คือ แผนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังยืนเป็นหลัก เราจึงนำมาตั้งไว้เป็นยุทธศาสตร์ที่ 1 และเป็นแผนนำ ต่างจากแผนฉบับที่1 ที่เน้นเรื่องของการตลาดเป็นตัวนำ ทั้งยังเป็นแผนใหม่นี้ที่จับต้องได้จริง และมีการวางแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนว่าใน 5 ยุทธศาสตร์นี้ เรื่องใดจะต้องนำมาเป็นแผนควิกวิน เพื่อให้เห็นผลภายในปี 2561 แผนใดจะอยู่ระยะกลาง เห็นผลในปี 2564 และเรื่องใดอยู่ในระยะยาว เห็นผลได้หลังปี 2565 และแนวทางต่างๆยังได้ข้อเสนอและแนวทางการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อเป็นแผนแม่บทให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาหรือลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน" นางกอบกาญจน์ กล่าว

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการวางโรดแมปการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559