FTAไทยใส่เกียร์เดินหน้า อังกฤษเป้าใหม่หลังออกอียู

06 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
แม้ภาพรวมการส่งออกของไทย เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศจะยังติดลบ 3 ปีซ้อน (2556-2558) ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังติดลบที่ 1.59% แต่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อช่วยลดปัญหาอุปสรรค และช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนระหว่างประเทศยังคงต้องเดินหน้าต่อไป เฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ แม้ในเวลานี้จะมีบางกลุ่มประเทศ เช่นสหภาพยุโรป(อียู) ยังตั้งแง่ไม่เจรจาเอฟทีเอกับไทยต่อ จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ "ศิรินารถ ใจมั่น" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่ออัพเดตการเจรจาเอฟทีเอของไทยในกรอบต่างๆ ทั้งเก่า และใหม่ดังรายละเอียด

ทำแล้ว 12 ฉบับกับ 17 ปท.

"ศิรินารถ" กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีการเจรจาและทำความตกลงเอฟทีเอกับหลายประเทศทั้งในกรอบทวิภาค และระดับภูมิภาคในนามกลุ่มอาเซียน กับคู่ค้าไปแล้วหลายฉบับ ปัจจุบันที่มีลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วมี 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศภาคี แบ่งสถานะได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เอฟทีเอที่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ยังต้องมีการเจรจาเพื่อทบทวนความตกลงและเพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยขณะนี้กรมให้ความสำคัญในการเข้าร่วมการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรอบภูมิภาคและทวิภาคี เช่น เออีซี ที่ดำเนินการตาม AEC blueprint คือผู้นำอาเซียนให้การรับรองและประกาศแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2559-2568 (AEC blueprint 2025)แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) รายสาขา

ขณะที่เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, เอฟทีเออาเซียน-จีน,เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น และเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้อยู่ระหว่างเจรจาเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติม และจัดทำความตกลงเสรีบริการ และการลงทุน เช่นเดียวกับเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ที่อยู่ระหว่างเจรจาทบทวนความตกลงการค้าสินค้า ,เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น, เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย, เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ที่อยู่ระหว่างเจรจาเปิดเสรีเพิ่มเติม ในขณะที่เอฟทีเอไทย-เปรู รอลงนามความตกลงเอฟทีเอฉบับเต็ม, ส่วนเอฟทีเอไทย-ชิลี ความตกลงมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
-เดินหน้าเจรจา FTAที่ยังค้าง

ในกลุ่มที่ 2 เป็นเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจาได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียน+6) อาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งในส่วนของ RCEP ได้สรุปผลประเด็นสำคัญๆแล้วในปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่จะเจรจาประเด็นเทคนิคและรายละเอียด เพื่อสรุปผลการเจรจาในประเด็นคงค้างสำคัญให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้ โดยการประชุมครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2559 ที่ประเทศเวียดนาม

"ส่วนเอฟทีเอไทย-ปากีสถานนั้นได้มีการเจรจากันไปแล้ว 5 รอบ และอยู่ระหว่างยื่นรายการสินค้าที่จะลดภาษีระหว่างกัน เช่นมีสินค้าอะไรบ้างที่ต้องลดภาษีให้เป็น0% และสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นต้น ทั้งนี้ตั้งเป้าเซ็นสัญญาในปี 2560 โดยการเจรจาในครั้งหน้าปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 -ขณะที่เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงมีเป้าหมายสรุปผลการเจรจาภายในปีนี้ การประชุมครั้งต่อไปจะเป็นครั้งสุดท้ายในปลายเดือนสิงหาคมนี้ที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนสรุปผลการเจรจา"

2 เอฟทีเอใหม่รอคิว

ส่วนกลุ่มที่ 3 เอฟทีเอฉบับใหม่ ได้แก่ เอฟทีเอ ไทย-ตุรกี ซึ่งขณะนี้รอกำหนดเวลาประกาศเปิดการเจรจาและเจรจาจัดทำเอฟทีเอในรอบแรก ทั้งนี้ จะเป็นการเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าก่อน ซึ่งการจัดทำ เอฟทีเอกับตุรกีจะช่วยลดอุปสรรค และขยายการค้า และยังเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ไทยไปยังตลาดใหม่โดยใช้ตุรกีเป็นประตูสู่ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และแอฟริกาตอนเหนือ

ส่วนเอฟทีเอไทย-กลุ่มยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้เปิดการเจรจาการาค้ากับกลุ่มประเทศใหม่ๆนั้น ในส่วนของเอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย อยู่ระหว่างรอบอร์ดใหญ่ของกลุ่มยูเรเซียอนุมัติเปิดเจรจาก่อน ส่วนไทยนั้นอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่ออนุมัติให้เปิดการเจรจากับยูเรเซีย คาดน่าจะเปิดเจรจาในอีก 2 ปี

หนักใจเอฟทีเอกับอินเดีย

"สิ่งที่อยากเห็นก่อนเกษียณคือ อยากให้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อินเดียจบโดยเร็วแต่ก็คิดว่ายากเพราะต้องขึ้นอยู่ทั้ง2 ฝ่าย เพราะมีประเด็นปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้ในแง่ของสินค้าและบริการ ซึ่งเราเองต้องการส่งสินค้าเข้าไป เช่น ข้าว ยางพารา หรือปิโตรเคมี แต่อินเดียก็ยังไม่พร้อมเปิดให้เรา ในขณะที่อินเดียเองต้องการส่งแรงงานฝีมือของเขาเข้ามาทำงานในไทย เรื่องนี้ไทยเองต้องพิจารณาในแง่ผลกระทบด้วย เพราะและส่วนใหญ่เป็นอาชีพสงวนของไทย ขณะที่นโยบายใหม่ของรัฐบาลไทยสนับสนุนใน 10 ซูเปอร์คลัสเตอร์ ที่มีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา ดังนั้นไทยเองต้องทบทวนว่าคนของเราเองมีศักยภาพด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อาจจะพิจารณาให้คนที่มีศักยภาพเข้ามา คงต้องใช้เวลาเหมือนกัน เพราะทำฝ่ายเดียวไม่ได้"

สนใจเจรจาเอฟทีเอกับผู้ดี

ส่วนกรณีที่อังกฤษอยู่ในขั้นตอนการออกจากอียูนั้น "ศิรินารถ" กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะพิจารณาเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษ ที่เป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญ และมีการลงทุนระหว่างกันสูง ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดของไทยประเทศหนึ่ง จากอังกฤษเป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงที่ไทยจะสามารถขยายตลาดสินค้าเกษตร อาหาร และเกษตรกรรมแปรรูป รวมทั้งหาช่องทางความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของไทย

"ที่ผ่านมาอังกฤษเป็นประเทศที่มีท่าทีสนับสนุนการทำเอฟทีเอ ไทย-อียูมาโดยตลอด ทั้งจากฝั่งภาครัฐและภาคธุรกิจ และอังกฤษเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำนโยบายและท่าทีในการเจรจาเอฟทีเอ ของอียู การที่อังกฤษออกจากอียูจึงอาจมีผลต่อแนวทางการเจรจาเอฟทีเอของอียูในอนาคตได้"

ส่วนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูนั้น ที่ผ่านมามีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ โดยรอบสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2557 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยส่งผลให้การเจรจาชะลอไป ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่กำหนดวันเจรจาครั้งต่อไป แต่ไทยเองก็หวังว่าจะมีการเปิดเจรจาโดยเร็วเพราะอียูเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนของไทย

ยังไม่ตัดสินใจร่วมทีพีพี

ในส่วนของการการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำนั้น ทางกรมได้จ้างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ศึกษา ศึกษาข้อมูล ซึ่งผลก็ออกมาใกล้เคียงกับที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ศึกษาว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งเราเองได้ดูผลการศึกษาหลายๆ แห่ง มีการประสานไปยังธนาคารโลกเพื่อให้ช่วยศึกษา และยังได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ มาศึกษาข้อดีข้อเสียของทีพีพี เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจต่อไป ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางกรมเองก็ได้เดินหน้าจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบและมาตรการเยียว ซึ่งผลการเปิดรับฟังความเห็นจะเป็นส่วนหนึ่งของการติดสินใจเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วยหากไทยจะเข้าร่วม

"สิ่งที่อยากฝากถึงอธิบดีคนใหม่ คงไม่มีอะไรมาก เพราะมั่นใจว่าอธิบดีใหม่จะสามารถสานต่องานที่ยังค้างอยู่ได้อย่างดีและทำงานร่วมกับข้าราชการได้อย่างเข้าขากัน เชื่อว่างานจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะงานเจรจาเป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ แต่หากทุกคนร่วมกันทำงานก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559