ปิดฉากเกมล่าภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป

05 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ประเด็นติดตามทวงภาษีการโอนหุ้นชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร กลับสู่ความสนใจของสังคมอีกครั้ง เมื่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตพิพากษาจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากรกับพวกรวม 5 คน ปลุกกระแสเรียกร้องให้ติดตามหาผู้ต้องชำระภาษีและค่าปรับก่อนนี้ดังกระหึ่มขึ้น

คุก 3 ปี "เบญจา-พวก"

โดยศาลอาญาแผนกคดีทุจริต อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในคดีดำที่ อท.43/2558 ที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร กับพวกรวม 5 คน ประกอบด้วย นางสาวจำรัส แย้มสร้อยทอง นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ นายกริช วิปุลานุสาสน์ ที่ล้วนเป็นอดีตผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ อดีตเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

จากกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา คุณากรวงศ์ (ชินวัตร-ขณะนั้น) มีชื่อเป็นผู้ซื้อหุ้นบมจ.ชินคอร์ป คนละ 164.6 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท แล้วรวมหุ้นชินคอร์ปในมือครอบครัวชินวัตร ยกขายให้กองทุนเทมาเสกในวันรุ่งขึ้น (23 ม.ค.49) โดยก่อนการซื้อขายครอบครัวชินวัตรได้ทำหนังสือสอบถามกรมสรรพากร โดยกลุ่มจำเลยซึ่งเป็นระดับบริหารกรมสรรพากร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้ตอบข้อหารือ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อไม่ให้พานทองแท้-พินทองทา ต้องเสียภาษี หรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควรโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้นคนละ 7.941 พันล้านบาทนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรเคยมีความเห็นเกี่ยวกับรายได้และส่วนต่างการโอนขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา เข้าลักษณะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งต้องนำเงินนั้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39

พิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานสนับสนุนให้มีการกระทำผิด มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่มีเหตุให้รอลงโทษ

ต่อมา ทนายจำเลยทั้ง 5 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลตีราคาประกันจำเลยคนละ 3 แสนบาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราว

ปลุกกระแส"ทวงภาษีโอนหุ้นชิน"

ไม่เพียงการติดตามเอาผิดอดีตบิ๊กข้าราชการ-ทีมงานบิ๊กธุรกิจ-การเมือง ที่ร่วมกันกระทำผิดเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบนความเสียหายของราชการเท่านั้น หลังคำพิพากษาดังกล่าว มีการเปิดประเด็นติดตามทวงคืนภาษีก้อนโตนี้ขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นบมจ.ชินคอร์ป พบมีการหลีกเลี่ยงภาษีของญาติ บุตรธิดา และบริษัทของครอบครัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมเป็นภาษีและเงินเพิ่มที่ต้องชำระ 3.31 หมื่นล้านบาท

โดยในส่วนของการมีชื่อรับซื้อหุ้นบมจ.ชินคอร์ปของ"พานทองแท้-พินทองทา ชินวัตร" จากกองทุนแอมเพิลริช ดังกล่าว ซึ่งมีส่วนต่างราคาซื้อกับราคาตลาดถึงคนละ 7.941 พันล้านบาท เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่มีกระบวนการหลบเลี่ยงไปนั้น คตส.แจ้งกรมสรรพากรให้เรียกประเมินภาษีและค่าปรับกรณีนี้เป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทไปแล้ว
นายสัก กอแสงเรือง อดีตกรรมการและโฆษก คตส. กล่าวหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการระดับสูงกรมสรรพากร ว่า เป็นเรื่องของกรมสรรพากร ที่จะต้องไปติดตามเรียกภาษีส่วนนี้คืน"

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบฟ้องร้องคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ข้อหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีปล่อยปละโครงการรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายแก่รัฐมหาศาล ก็ชี้ว่ากรมสรรพากรมีหน้าที่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนว่า บุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียจากกรณีนี้ ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ออกคำสั่งให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับกรณีโครงการรับจำนำข้าวได้

พลิกแฟ้มปิดคดีทวงภาษีโอ๊ค-เอม

ข้อเท็จจริงกรณีการติดตามทวงภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปจาก"พานทองแท้-พินทองทา"นั้น หลังจากที่คตส.แจ้งผลการตรวจสอบให้กรมสรรพากร ว่ามีภาระภาษีต้องชำระพร้อมเบี้ยปรับนั้น กรมสรรพากรได้เรียกประเมินภาระภาษี และอายัดทรัพย์"โอ๊ค-เอม"เป็นเงินสดกว่า 200 ล้านบาท และหลักทรัพย์กว่าพันล้านบาท ซึ่ง"โอ๊ค-เอม"ได้นำเรื่องขึ้นฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากร

กระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษาว่า ทั้งสองมิใช่เจ้าของหุ้นตัวจริง เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาว่า ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง การที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจาก"โอ๊ค-เอม"จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ผู้บริหารกรมสรรพากร และกระทรวงการคลังขณะนั้น เห็นพ้องตามคำพิพากษา และมีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดี ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของสังคมให้ต่อสู้คดีถึงที่สุด หลังเรื่องนี้ปูดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 โดยหวังให้เป็นบรรทัดฐาน และเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกรมที่ผ่านมา

แก้วสรร อติโพธิ อดีตคตส. ให้ความเห็นขณะนั้นว่า การดำเนินการของกรมสรรพากรไม่น่าจะถูกต้อง เพราะหากไม่ยื่นอุทธรณ์ภาษีพานทองแท้-พินทองทา ก็ควรเรียกเก็บภาษีจากทักษิณทันที หรือหากคิดว่าเรียกเก็บจากทักษิณไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตรทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย

ซึ่งในที่สุดกรณีเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้ก็เงียบหาย และน่าจะหมดอายุความที่ต้องดำเนินการภายใน 5 ปีไปเรียบร้อยแล้ว
-ภาษี"บรรณพจน์-พจมาน"ก็ปิดฉาก

ไม่เพียงภาษีและค่าปรับ 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีโอนหุ้นชินคอร์ปให้"โอ๊ค-เอม"ข้างต้นดังกล่าวแล้ว เรื่องภาษีจากการโอนหุ้นชินคอร์ปยังมีอีกหนึ่งกรณีที่ก็ปิดฉากไปแล้วเช่นกัน โดยช่วงเดือนกันยายน 2554 ก่อนครบเกษียณอายุราชการ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกา ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ฟ้อง 3 จำเลย คือ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือชินวัตร หรือ ณ ป้อมเพชร และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาฯส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ในข้อหาร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีอากร

จากกรณีที่มีการโอนขายหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นฯ ของครอบครัวชินวัตร ที่ซุกไว้ในชื่อบริวาร 3 คน มาเป็นชื่อนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ว่าเป็นผู้ซื้อในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 764 ล้านบาท เพื่อให้ถือแทน จากการที่ทักษิณเข้าสู่การเมืองและไม่ต้องการเปิดเผยหุ้นที่ถือครองไว้ ที่ต้องแจ้งต่อหน่วยงานรับบริหารจัดการหลักทรัพย์ให้นักการเมือง

ในการตรวจสอบของป.ป.ช. คุณหญิงพจมานชี้แจงว่า บรรณพจน์ได้หุ้นนี้ไปด้วยการให้โดยเสน่หา เนื่องจากช่วยบริหารกิจการมา เป็นตามธรรมจรรยาเพื่อเป็นของขวัญแต่งงาน ซึ่งกรมสรรพากรเห็นตามและให้ยกเว้นภาษี

ต่อมาคตส.ตรวจสอบคำอ้างไม่เห็นฟ้องด้วย เพราะวงเงินสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จึงให้กรมสรรพากรเรียกภาษีและเงินเพิ่มจากบรรณพจน์ เป็นเงิน 546 ล้านบาท โดยส่วนนี้ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีไม่เห็นด้วยกับกรมสรรพากร คดีภาษีจึงยุติไป

ส่วนการให้ดำเนินคดีอาญาจำเลยทั้ง 3 คนนั้น คตส.ส่งเรื่องอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาล ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกบรรณพจน์-คุณหญิงพจมาน คนละ 3 ปี จำคุกนางกาญจนาภา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยสู้คดี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกบรรณพจน์ 2 ปี โทษจำให้รอลงอาญา และปรับ 1 แสนบาท ส่วนคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ให้ยกฟ้องซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดตัดสินใจไม่สู้คดีต่อในชั้นฎีกาดังกล่าว

ปิดฉากคดีความและการเรียกเก็บภาษีที่เกี่ยวโยงถึงครอบครัวชินวัตรแล้วโดยสิ้นเชิง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559