สุนทรภู่... ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง ใช่มั้ย.. ใช่เลย

04 ส.ค. 2559 | 08:19 น.
ชื่อหนังสือที่สะท้อนตัวตนคนเขียนโดยไม่ต้องอธิบายมาก  จะบอกว่าสุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ใช่หรือไม่ ก็ใช่สิ่ และพระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง นั้นก็จริงอีกเหมือนกัน หนังสือที่เริ่มต้นด้วยความจริง 2 ประการ กลับพาเรามาหาคำตอบที่ซ่อนเร้นในแบบเรียนวัยละอ่อน กับคำตอบสไตล์หยิกแกมหยอกแบบครูทอม คำไทย สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่

หนังสือที่อ่านไปก็รู้สึกแสบๆ คันๆ เหมือนครูทอมมาเล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตรงหน้า ราวกับกำลังดูรายการยิ่งถก กนกซัก บนหน้ากระดาษ ฟาดฟันความจริงด้วยกวีนิพนธ์ซึ่งอ้างหลักฐานจริง เทียบกันคำต่อคำ  ประโยคต่อประโยค ให้รู้กันไปเลยว่าที่เข้าใจกันน่ะมันเคลื่อนไปแค่ไหน  นอกจากการเปิดประเด็นให้ฉุกคิดแล้ว ครูทอมยังแอบสอนเราอยู่กลายๆ ว่าอย่าอ่านอะไรแค่ฉาบฉวยและเชื่ออะไรตามคำบอกเล่า ต้องดูให้ครบองค์ ตีให้แตกฉาน ถึงจะเรียกว่ารู้จริงและไปแสดงความเห็นกับใครได้อย่างผู้มีความรู้ มิใช่ผู้อวดรู้

เหมือนกับตอนหนึ่งที่ครูทอมบอกเราในหน้า 28 โดยยกบทกลอนของครูกวีสุนทรภู่ขึ้นมาก่อนเปิดเรื่องว่า

“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ           ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก                   จงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

 

นอกจากความจริงหลายประการที่ไม่รู้ตายตาไม่หลับในเล่มนี้  สิ่งหนึ่งที่ครูทอมเลือกเข้ามาแทรกเป็นแต่ละบทอย่างมีสีสันคือบรรดาภรรยาของพระอภัยมณีทั้ง 4  (ความจริงมี 5 นางสุวรรณมาลี คาดว่าคงจะกล่าวถึงในเล่มถัดๆๆ ไป ) ตั้งแต่  นางผีเสื้อสมุทร ผู้ทำให้พระอภัยมณีต้องเป็น “พ่อบ้านใจกล้า”  แถมยังแฝงความรู้กระบวนการเกิดขึ้นของสินสมุทรกับการเล่นว่าวของไทยจนต้องหวนกลับไปอ่านเพราะกลัวว่าจะเข้าใจผิดอีกหลายครา  ต่อด้วย นางเงือก รักแรกพบกับคนมีหาง หรือครึ่งปลาครึ่งคน จะบอกว่าครูทอมเฉลยไว้ว่านางเงือกเวอร์ชั่นสุนทรภู่คนละเวอร์ชั่นกับ The Little Mermaid แม่สาวงามจากวอลต์ ดิสนีย์ นะจ๊ะ คนต่อไป นางวาลี ใครจะไปรู้ว่าครั้งหนึ่งพระอภัยมณีเคยได้เชยสาวแก่แม่ปลาช่อน เมียที่ไม่สวยที่สุดแต่นางมีของค่ะ หึหึ สุดท้ายกับนางละเวงวัณฬา หญิงสาวซึ่งถอดแบบจินตนาการมาจากดินแดนทางไกลโพ้นฝั่งตะวันตก ใครได้พบเห็นต้องตกอยู่ในมนต์สะกดจนพระอภัยมณีเองตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาเป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

การนำแต่และปมคำถามมาตีแผ่ยิ่งทำให้เห็นเกร็ดประวัติศาสตร์และการเมืองที่แฝงเร้นในบทกวี และยังทำให้เรา “ตาสว่าง” หลุดจากคำสอนสอนที่ผ่านการคาดเดาในเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ว่า สุนทรภู่เป็นคนระยองจริงหรือ? และเกาะแก้วพิสดารแท้จริงแล้วอยู่หนใด? แค่นี้ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสืออ่านเล่น แต่คือหนังสือเรียนที่สนุกและได้ความรู้พ่วงคำสอนและการปิดแต่ละตอนด้วยข้อคิดที่ใช้ได้จริงยิ่งทำให้เราเห็นถึงความเป็น “ครู” ของครูทอมในหนังสือถือง่ายขนาด 184 หน้านี้อย่างแท้จริง

ก่อนจบบอกเลยว่าหากสุนทรภู่คือผู้วาดภาพอันวิจิตรแล้วไซร้ ครูทอมคือผู้แต่งแต้มสีสันบทกวีของสุนทรภู่ใช้ชวนมองและชวนเก็บรักษาไว้ในอ้อมใจมากขึ้นนั่นเอง

ขอบคุณที่ทำให้ได้กลับมาอ่านกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่อย่างสนุกอีกครั้ง